การถอนการบังคับคดี | คำพิพากษาถูกกลับชั้นที่สุด

การถอนการบังคับคดี | คำพิพากษาถูกกลับชั้นที่สุด
ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีเมื่อถ้าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด ในคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชนะคดี(ฟ้องแย้ง) จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมยึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ จำเลยฎีกาศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์เข้าครอบครองทรัพย์พิพาท การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นการส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการถอนการบังคับคดี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่เพิกถอนการออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3700/2553

การบังคับคดีย่อมอาศัยคำพิพากษาเป็นหลัก และการแปลคำพิพากษาต้องพิเคราะห์เกี่ยวกับข้อวินิจฉัยในคำพิพากษา เมื่อคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ จำเลยไม่อาจขอให้ขับไล่โจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายได้ จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทพร้อมยึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด ก็เพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาบังคับไปตามฟ้องแย้งจำเลย เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยเท่ากับคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดี และเมื่อศาลยังไม่ส่งคำสั่งถอนการบังคับคดีให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) โจทก์ผู้ถูกบังคับย่อมร้องขอต่อศาลเพื่อให้ส่งคำสั่งดังกล่าวได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นการส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการถอนการบังคับคดีโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว
________________________________

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านเลขที่ 36/27 หมู่ที่ 16 ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และที่ดินโฉนดเลขที่ 213447 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 214669 ตำบลบางแก้ว (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์และบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความให้ 62,500 บาท คำขอจำเลยนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท พร้อมยึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 213447 และที่ดินโฉนดเลขที่ 214669 ตำบลบางแก้ว (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ แก่โจทก์ โดยให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมทั้งหมด หากไม่ไปโอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากไม่สามารถโอนได้ด้วยเหตุใด ๆ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 25,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 80,000 บาท จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ โจทก์ยื่นคำขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทคืนโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 1 ธันวาคม 2546 ว่า หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์เข้าครอบครองทรัพย์พิพาท

จำเลยยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดีและมีคำสั่งให้จำเลยเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทชั่วคราว และมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะวินิจฉัยชี้ขาด

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี เพื่อให้ดำเนินการมีหนังสือเรียกต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 213447 และ 214669 ตำบลบางแก้ว (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ จากจำเลยหรือออกโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และดำเนินการจดทะเบียนหรือเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินทั้งสองแปลงและสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 9 มกราคม 2547 ว่า ให้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี บันทึกในสารบาญจดทะเบียนโฉนดที่ดินเลขที่ 213447 และ 214669 ตำบลบางแก้ว (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างว่าสัญญาซื้อขายฉบับวันที่ 28 เมษายน 2535 เป็นโมฆะตามคำพิพากษาศาลฎีกา หากมีเหตุขัดข้องไม่ได้รับโฉนดที่ดินจากจำเลย ก็ให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์และบันทึกในสารบาญจดทะเบียนไว้ตามที่แจ้งมา และเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการเสร็จแล้วให้แจ้งให้ศาลทราบด้วย

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2547 และแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี งดดำเนินการทางทะเบียนในสารบาญจดทะเบียนไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพาทษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 26 มกราคม 2547 และวันที่ 9 มกราคม 2547 ให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้งดดำเนินการทางทะเบียนในโฉนดที่ดินเลขที่ 213447 และ 214669 ตำบลบางแก้ว (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ที่พิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ตกเป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่เพิกถอนการออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์เข้าครอบครองทรัพย์พิพาทชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทคืนโจทก์ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจไปใช้ดำเนินการจดทะเบียน แต่ข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของจำเลยจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทคืนโจทก์ได้เพราะนอกประเด็นตามคำฟ้อง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์ไม่ได้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้จำเลย การจดทะเบียนดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาลวง ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงยังคงเป็นของโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจขอให้ขับไล่โจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายได้ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ดังนั้น การบังคับคดีย่อมอาศัยคำพิพากษาเป็นหลัก และการแปลคำพิพากษาต้องพิเคราะห์เกี่ยวกับข้อวินิจฉัยในคำพิพากษา เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ จำเลยไม่อาจขอให้ขับไล่โจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายได้ การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดี่ขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทพร้อมยึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด ก็เพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาบังคับไปตามฟ้องแย้งจำเลย เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยเท่ากับคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดี และเมื่อศาลยังไม่ส่งคำสั่งถอนการบังคับคดีให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 (3) โจทก์ผู้ถูกบังคับย่อมร้องขอต่อศาลเพื่อให้ส่งคำสั่งดังกล่าวนั้นได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นการส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการถอนการบังคับคดีโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาไม่เพิกถอนการออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น...
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
( สมควร วิเชียรวรรณ - มนูพงศ์ รุจิกัณหะ - ธนสิทธิ์ นิลกำแหง )
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ - นายกฤต บุญญานุสนธิ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายบัณฑิต รชตะนันทน์
มาตรา 295 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณี ต่อไปนี้
(1) เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีนั้นเอง หรือถอนโดย คำสั่งศาล แล้วแต่กรณี เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาล หรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดี หรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาจนเป็นที่พอใจของศาล สำหรับจำนวนเงินเช่นว่านี้
(2) ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นหนังสือว่าตนสละสิทธิในการบังคับคดีนั้น
(3) ถ้าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด หรือ หมายบังคับคดีได้ถูกยกเลิกเสีย เมื่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีได้ส่ง คำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ถ้าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีนั้น ได้ถูกกลับแต่เพียงบางส่วน การบังคับคดีอาจดำเนินต่อไป จนกว่าเงินที่รวบรวมได้นั้นจะพอชำระแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ