ขาดอายุความถอนคืนการให้
ขาดอายุความถอนคืนการให้
ฟ้องว่ายกที่ดินให้จำเลยโดยเสน่หาจำเลยประพฤติเนรคุณด้วยการด่าว่าและหมิ่นประมาทโจทก์ในฐานะบุพการีอย่างร้ายแรง ขอเรียกถอนคืนการให้ที่ดินจากจำเลย จำเลยให้การว่า ไม่ได้กระทำการดังกล่าว หากเหตุการณ์ดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์เกิดขึ้นจริง ฟ้องของโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6962/2550
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยกที่ดินเฉพาะส่วนทั้งห้าแปลงให้จำเลยโดยเสน่หา ต่อมาประมาณปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 จำเลยประพฤติเนรคุณด้วยการด่าว่าและหมิ่นประมาทโจทก์ในฐานะบุพการีอย่างร้ายแรง ขอเรียกถอนคืนการให้ที่ดินทั้งห้าแปลงจากจำเลย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว มูลเหตุของการฟ้องคดีนี้ หากเหตุการณ์ดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์เกิดขึ้นจริง ฟ้องของโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว แม้คำให้การของจำเลยจะไม่ระบุระยะเวลาที่เป็นอายุความตามข้อต่อสู้ไว้ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณเพียงเรื่องเดียว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเรื่องอายุความการถอนคืนการให้ไว้ในลักษณะให้ มาตรา 533 เพียงมาตราเดียวดังนี้ นอกจากจำเลยได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์แล้ว จำเลยยังได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธและการขาดอายุความให้ปรากฏว่าเหตุใดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความคำให้การของจำเลยชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงมีประเด็นเรื่องอายุความ
จำเลยประพฤติเนรคุณด่าและหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อประมาณปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 เกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ได้ทราบถึงเหตุเหล่านั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 533 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โจทก์ยกที่ดินให้จำเลยรวม 5 แปลง โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 โจทก์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 19059, 19060 และ 17957 เฉพาะส่วนให้แก่จำเลย วันที่ 8 พฤษภาคม 2535 โจทก์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 20570 เฉพาะส่วนให้แก่จำเลย และวันที่ 10 เมษายน 2539 โจทก์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 18439 เฉพาะส่วนให้แก่จำเลย ต่อมาเมื่อประมาณปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 จำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ด้วยการด่าว่าและหมิ่นประมาทโจทก์ในฐานะบุพการีอย่างร้ายแรงโดยจำเลยด่าโจทก์ว่า “เรื่องอะไร ออกไปอยู่เสียห่างๆ ก็ดีแล้ว จะมารับไปเลี้ยงดูอีแก่เป็นภาระเหนื่อยด้วย ถูกด่าด้วย ไปอยู่ข้างนอกเสียก็ดี” และจำเลยด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำในทำนองเดียวกันกับข้างต้นต่อประชาชนอีกด้วย อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง และต้องทนทุกข์ทรมานจิตใจในฐานะผู้เป็นมารดาอย่างร้ายแรง โจทก์ประสงค์จะเรียกถอนคืนการให้ที่ดินทั้งห้าแปลงจากจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนที่ดินและส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์โดยให้ไปจดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของจากชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยด่าว่าโจทก์ หากจำเลยกระทำการดังกล่าวโจทก์คงไม่โอนที่ดินแปลงที่ 5 ให้จำเลยในวันที่ 10 เมษายน 2539 หากเหตุการณ์ดังกล่าวตามฟ้องโจทก์เป็นความจริง ฟ้องของโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามคำฟ้องและคำให้การว่า โจทก์เป็นมารดาจำเลย โจทก์ยกที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 19059, 19060, 20570 และ 18439 ตำบลตำหรุ อำเภอเมืองเพชรบุรี (ปัจจุบันอำเภอบ้านลาด) จังหวัดเพชรบุรี และที่ดินโฉนดเลขที่ 17957 ตำบลไร่สะท้อน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5 ให้แก่จำเลยโดยเสน่หา ต่อมาโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยประพฤติเนรคุณด้วยการด่าว่าและหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์ขอเรียกถอนคืนการให้ที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความชอบหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยให้การเพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วโดยมิได้กล่าวถึงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏ ไม่ได้ระบุระยะเวลาที่เป็นอายุความ รวมทั้งเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใด ในเรื่องใด และเพราะเหตุใด คำให้การของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยกที่ดินเฉพาะส่วนทั้งห้าแปลงตามฟ้องให้จำเลยโดยเสน่หา ต่อมาประมาณปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 จำเลยประพฤติเนรคุณด้วยการด่าว่าและหมิ่นประมาทโจทก์ในฐานะบุพการีอย่างร้ายแรง ขอเรียกถอนคืนการให้ที่ดินทั้งห้าแปลงจากจำเลย จำเลยให้การว่า วันเวลาตามฟ้องจำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าวตามฟ้องโจทก์ หากจำเลยกระทำการดังกล่าวตามฟ้องจริงโจทก์คงไม่โอนที่ดินแปลงที่ 5 ให้แก่จำเลยในวันที่ 10 เมษายน 2539 อีกอย่างแน่นอน ทั้งคำกล่าวอ้างที่ว่าจำเลยด่าโจทก์ก็ไม่เป็นความจริงเพราะจำเลยแต่งงานแยกครอบครัวไปอยู่ต่างหากตั้งแต่ปี 2531 ไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องไล่โจทก์ออกไปเพราะแยกกันอยู่คนละบ้านมูลเหตุของการฟ้องคดีนี้ หากเหตุการณ์ดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์เกิดขึ้นจริง ฟ้องของโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว เห็นว่า แม้คำให้การของจำเลยจะไม่ระบุระยะเวลาที่เป็นอายุความตามข้อต่อสู้ไว้ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณเพียงเรื่องเดียว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเรื่องอายุความการถอนคืนการให้ไว้ในลักษณะให้ มาตรา 533 เพียงมาตราเดียว ทั้งเมื่ออ่านคำให้การของจำเลยโดยตลอดแล้วเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ด้วยการด่าว่าและหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องเพราะมิเช่นนั้นโจทก์คงไม่โอนที่ดินแปลงที่ 5 ให้แก่จำเลยในวันที่ 10 เมษายน 2539 อย่างแน่นอน และหากศาลฟังว่าจำเลยประพฤติเนรคุณดังที่โจทก์ฟ้องอันเป็นมูลเหตุให้โจทก์มีสิทธิถอนคืนการให้ได้ ฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว ดังนี้ นอกจากจำเลยได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์แล้ว จำเลยยังได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธและการขาดอายุความให้ปรากฏว่าเหตุใดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ คำให้การของจำเลยชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงมีประเด็นเรื่องอายุความ เมื่อคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยประพฤติเนรคุณด่าว่าและหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อประมาณปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 ซึ่งเหตุประพฤติเนรคุณที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อนับถึงวันฟ้องเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ได้ทราบถึงเหตุเหล่านั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 533 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
( ชาลี ทัพภวิมล - สมศักดิ์ จันทรา - ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ )
หมายเหตุ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ถึงมาตรา 193/35 กำหนดอายุความในเรื่องต่างๆ ไว้เป็นการทั่วไป กรณีที่โจทก์ฟ้องคดีที่ต้องใช้อายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวบังคับ ถ้าจำเลยให้การลอยๆ ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นอายุความเรื่องใด แม้จะถือได้ว่าได้มีการยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 แต่เป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงเหตุผลประกอบ เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1801/2539 ประชุมใหญ่) ส่วนกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีที่มิได้ใช้อายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวบังคับ เช่น คดีละเมิดซึ่งมีอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2941/2547) การให้การลอยๆ ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ก็ไม่ถือว่ามีประเด็นข้อพิพาทว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เช่นกัน
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรื่องเพิกถอนการให้ซึ่งมีอายุความบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 533 มิได้ใช้อายุความตามมาตรา 193/30 ถึงมาตรา 193/35 บังคับ แต่จำเลยมิได้ให้การลอยๆ ว่าคดีโจทก์ขาออายุความโดยได้ให้เหตุผลประกอบด้วยซึ่งพอที่จำเลยจะเข้าใจได้จึงถือว่าเป็นคำให้การที่ชัดแจ้ง จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ไพโรจน์ วายุภาพ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 533 เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดีหรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะ ถอนคืนการให้ได้ไม่
อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น