ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนก่อนที่ตนออกสองปีไม่ใช่อายุความ
ความรับผิดในหนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1068 ไม่ใช่อายุความ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิขย์ มาตรา 1068
"ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วน นั้นย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน"
ไม่ใช่เรื่องอายุความ แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่ออกจากหุ้นส่วน ให้รับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกินขึ้นก่อนที่ตนออกจากสุ้นส่วนเพียงสองปี นับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน บทบัญญัติดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่กรณีจึงอาจตกลงเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อจำเลยทำสัญญายอมรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนที่มีอยู่ก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ไม่ใช่เรื่องอายุความ แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่ออกจากหุ้นส่วนให้รับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วนบทบัญญัติดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนคู่กรณีจึงอาจตกลงเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อจำเลยทำสัญญายอมรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนที่มีอยู่ก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับได้
โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นลูกหนี้กรมสรรพากรการชำระหนี้ ต้องชำระในนามของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้นำเงินส่วนตัวชำระหนี้แทนโจทก์ที่ 1 แล้วจำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนนั้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามสัญญา
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เดิมมีจำเลยและนายวสันต์ร่วมกันเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาจำเลยโอนขายหุ้นส่วนของตนให้โจทก์ที่ 2 ส่วนนายวสันต์ยังเป็นหุ้นส่วนต่อไป ในการโอนหุ้นให้โจทก์ที่ 2 จำเลยกับนายวสันต์ได้ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 ไว้ว่า หากมีหนี้สินหรือข้อผูกพันกับโจทก์ที่ 1 อยู่ก่อนวันทำสัญญาโอนหุ้น จำเลยกับนายวสันต์จะเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้สินหรือข้อผูกพันอื่นนั้นทั้งสิ้น ต่อมาปรากฏว่ากรมสรรพากรตรวจพบว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ค้างมา4 ปี และเงินเพิ่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 102,376.64 บาท โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินภาษีดังกล่าวให้กรมสรรพากรไปแล้ว และนายวสันต์ได้ชำระเงินที่ต้องรับผิดตามสัญญาให้โจทก์แล้วครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นจำนวนเงิน 51,188.32 บาท จำเลยจะต้องเป็นผู้ชำระตามสัญญา จำเลยไม่ยอมชำระจึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้หลายประการพร้อมทั้งต่อสู้ว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยนี้เกินระยะเวลาตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 กำหนดให้ต้องรับผิดคือเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดขึ้นเกินกว่า2 ปี ก่อนที่จำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วน เป็นการขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อย โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามฟ้องให้โจทก์ที่ 2
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติในมาตราดังกล่าวหาใช่เรื่องอายุความไม่ แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่ออกจากหุ้นส่วนให้รับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน บทบัญญัติดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่กรณีจึงอาจตกลงเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อจำเลยทำสัญญายอมรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนที่มีอยู่ก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนทั้งหมดข้อตกลงดังกล่าวก็ย่อมมีผลใช้บังคับได้
ปัญหาเรื่องจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 หรือไม่นั้นเห็นว่าโจทก์ที่ 1 เป็นลูกหนี้กรมสรรพากร การชำระหนี้จึงต้องชำระในนามของโจทก์ที่ 1 แต่โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ออกเงินส่วนตัวชำระหนี้แทนโจทก์ที่ 1 จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามสัญญา
พิพากษายืน