ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2171/2527
ป.อ. มาตรา 68
ป.วิ.อ. มาตรา 227
คำให้การของพยานในชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่า จะรับฟังได้แต่เพียงเป็นพยานประกอบคำเบิกความของพยานในชั้นศาลเท่านั้นเมื่อโจทก์ไม่ได้ตัวพยานมาสืบคงส่งแต่คำให้การพยานชั้นสอบสวนเป็นพยานเท่านั้น จึงรับฟังไม่ได้
ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนในที่เปลี่ยว พวกผู้เสียหาย3 คนอยู่ในวัยฉกรรจ์ร่วมกันจะแย่งทรัพย์สินของ อ. เมื่อจำเลยเข้ามาช่วยเหลือ พวกผู้เสียหายคนหนึ่งมีมีดวิ่งเข้ามาจะกลุ้มรุมทำร้ายจำเลย จำเลยยิงปืนขู่ 1 นัด ผู้เสียหายกับพวกก็ไม่ยอมหยุด หากจำเลยไม่ยิง ก็เชื่อได้ว่าจะถูกแทงถึงตายได้ ถือได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ ใกล้จะถึงการที่จำเลยยิงผู้เสียหายกับพวก 2 นัดเมื่อกระสุนปืนถูกผู้เสียหายล้มลง จำเลยก็มิได้กระทำอย่างใดอีกจนผู้เสียหายกับพวกวิ่งหนีไป ดังนี้ จำเลยได้กระทำพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 จำเลยไม่มีความผิด
___________________________
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 ประกอบด้วย มาตรา 69 จำคุก 5 ปี ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติตามที่โจทก์จำเลยนำสืบตรงกันว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงนายสุรชัยผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องจริง ปัญหาในชั้นนี้มีว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ พิเคราะห์พยานหลักฐานโดยตลอดแล้วในชั้นพิจารณาของศาลโจทก์มีร้อยตำรวจเอกบูรพา ฤกษ์สังเกตุเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมจำเลยและร้อยตำรวจเอกสืบศักดิ์ พันธุ์สุระ พนักงานสอบสวนคดีนี้มาเป็นพยานต่อศาลเพียง 2 ปากเท่านั้น ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองนี้ ไม่มีพยานคนใดรู้เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ร้อยตำรวจเอกบูรพาฤกษ์สังเกตุ พยานโจทก์ที่เกิดเหตุหลังจากเกิดเหตุยิงกันแล้ว คงเบิกความว่า พบนายองอาจ แตงเจริญ น้องชายของจำเลยอยู่บนห้องพักซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ พยานสอบสวนนายองอาจได้ความว่า คนที่ยิงคือพี่ชายของนายองอาจเป็นตำรวจชื่อพลสำรองพิเศษดำรงศักดิ์(จำเลย) พยานสอบถามถึงสาเหตุของการยิงกัน ทราบว่าขณะที่นายองอาจกำลังจะเดินขึ้นไปบนหอพัก ได้มีชาย 3-4 คนกำลังเดินตามมาจะแย่งทรัพย์สินของนายองอาจ นายองอาจจึงตะโกนเรียกจำเลย ต่อมาจำเลยเดินลงมาและถือปืนมาด้วย พอจำเลยถึงข้างล่าง พวกที่จะเข้าแย่งทรัพย์สินได้ใช้อาวุธมีดทำท่าจะทำร้ายจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิง ส่วนร้อยตำรวจเอกสืบศักดิ์ พันธุ์สุระ พยานโจทก์ก็เป็นเพียงพนักงานสอบสวนที่สอบปากคำนายสุรชัยผู้เสียหายและนายอุดม สอสูงเนิน กับนายพินิจ เกษมเจริญวงษ์ ซึ่งเป็นพยานอยู่ในที่เกิดเหตุในขณะที่เกิดเหตุ แต่โจทก์ไม่ได้ตัวนายสุรชัยผู้เสียหาย นายอุดม สอสูงเนิน และนายพินิจ เกษมเจริญวงษ์ ซึ่งเป็นพยานสำคัญโดยเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดมาสืบในชั้นศาล คงมีแต่บันทึกให้การของพยานเหล่านั้นในชั้นสอบสวนส่งเป็นพยานเท่านั้นเห็นว่าคำให้การชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่า จะรับฟังได้ และเป็นพยานประกอบคำเบิกความของพยานในชั้นศาล จึงรับฟังไม่ได้ และปรากฏว่า ร้อยตำรวจเอกบูรพา ฤกษ์สังเกตุ พยานโจทก์เบิกความเจือสมพยานจำเลย พยานจำเลยมีน้ำหนักและหลักฐานมั่นคงดีกว่าพยานโจทก์ข้อเท็จจริงเชื่อฟังได้ตามพยานหลักฐานของจำเลยว่านายองอาจ แดงเจริญน้องชายจำเลยถูกผู้เสียหายกับพวกรวม 3 คน กลุ้มรุมทำร้ายเพื่อแย่งเงินในกระเป๋า แล้วนายองอาจร้องเรียกให้จำเลยช่วยเมื่อจำเลยเข้ามาช่วย แต่ผู้เสียหายกับพวกกลับพากันวิ่งเข้าไปจะทำร้ายจำเลยโดยพวกของผู้เสียหายคนหนึ่งมีมีดเป็นอาวุธ จำเลยจึงใช้ปืนยิงผู้เสียหาย จากพฤติการณ์ดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่เปลี่ยวพวกผู้เสียหายล้วนอยู่ในวัยฉกรรจ์ มีจำนวน 3 คนด้วยกัน ร่วมกันจะแย่งทรัพย์สินของนายองอาจ เมื่อจำเลยเข้ามาช่วยเหลือพวกของผู้เสียหายคนหนึ่งมีมีดเป็นอาวุธกำลังวิ่งเข้ามาจะกลุ้มรุมทำร้ายจำเลย แม้จำเลยจะได้ใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้น 1 นัดแล้ว แต่ผู้เสียหายกับพวกก็ยังไม่ยอมหยุด หากจำเลยไม่ใช้อาวุธยิงผู้เสียหายในขณะนั้น ก็เชื่อได้ว่าผู้เสียหายกับพวกจะใช้มีดแทงทำร้ายจำเลยจนถึงแก่ความตายได้ ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ฉะนั้น การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายกับพวก 2 นัด จึงเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ เมื่อกระสุนปืนถูกผู้เสียหายล้มลง เป็นเหตุให้ภยันตรายดังกล่าวสิ้นสุด ต่อมาจำเลยก็มิได้กระทำการอย่างใดแก่ผู้เสียหายกับพวกอีก จนผู้เสียหายกับพวกวิ่งหนีไป เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ และเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68จำเลยไม่มีความผิด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
(สหัส สิงหวิริยะ-โสภณ รัตนากร-เสนอ ศรนิยม)
แหล่งที่มา
เนติบัณฑิตยสภา
แผนก
หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้น
หมายเหตุ
หากมีข้อสงสัยประการใดติดต่อ ที่นี้เลย Tel/Line id : 089-2142456 (ทนายสอง ประธานชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)
Line id : lawyer_2 ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)
ท่านสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษาข้อกฎหมาย คำพิพากษา ได้ที่ www.ปรึกษาคดีฟรี.com