ทายาทรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ความรับผิดของผู้ตาย

ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายต้องรับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของผู้ตาย ทายาทผู้ตายถูกฟ้องให้ชำระค่าภาษีอากรซึ่งเจ้ามรดกเป็นหนี้ ทายาทรับมรดกไปแล้วต้องรับไปทั้งสิทธิเกี่ยวกับมรดกและหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีอันเป็นความรับผิดของผู้ตายด้วยแต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับจากกองมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5279/2548

โจทก์ฟ้องขอให้ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกผู้ตายชำระค่าภาษีอากรจำนวน 15,201,256.51 บาท แก่โจทก์ เดิมเจ้ามรดกผู้ตายเคยฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากรและศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้แม้โจทก์จะนำหนี้ภาษีอากรค้างในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งห้าผู้เป็นทายาทโดยธรรมให้รับผิด ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นคนละประเด็นกัน ทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรกดผู้ตายมีหน้าที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวของผู้ตายแก่โจทก์ โดยจะต้องนำทรัพย์สินกองมรดกของผู้ตายที่ตกทอดแก่ทายาท(จำเลยทั้งห้า)มาชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายซึ่งต้องรับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของผู้ตาย

เดิม ส. เคยฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากร คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบหรือไม่ และเป็นประเด็นที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย ส่วนคดีนี้แม้โจทก์จะนำหนี้ภาษีอากรค้างในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งห้าให้รับผิด แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า หนี้ภาษีอากรค้างที่ ส. เป็นหนี้อยู่แก่โจทก์ยังมิได้ชำระและ ส. ถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้รับมรดกมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวโดยนำทรัพย์สินกองมรดกที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งห้ามาชำระหนี้แก่โจทก์ ประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรของ ส. แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับในคดีก่อน แม้จำเลยทั้งห้าอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสิทธิของ ส. ผู้ตายก็ตาม แต่สภาพแห่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทผู้รับมรดกของ ส. ให้รับผิดในหนี้ที่ ส. มีอยู่แล้วแก่โจทก์ ซึ่งเป็นความรับผิดของทายาทโดยเฉพาะต่อกองมรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จึงมิใช่เป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

แม้คดีเดิมที่ ส. เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยถึงที่สุด อันมีผลให้หนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งอธิบดีโจทก์มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของ ส. ได้ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่อธิบดีโจทก์ไว้เป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรให้เป็นไปโดยรวดเร็วโดยไม่ต้องนำคดีมาสู่ศาล อำนาจของอธิบดีโจทก์แม้จะมีลักษณะเสมือนเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างกลับกลายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก ก็เพื่อให้ความรับผิดที่จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดแก่โจทก์ เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ได้

จำเลยทั้งห้าอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมและมีสิทธิได้รับมรดกของ ส. โจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับให้รับผิดชำระหนี้ภาษีอากรค้างของ ส. ได้ และคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันโจทก์ และ ส. ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ส. จึงไม่อาจรื้อฟื้นโต้แย้งต่อโจทก์เกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวอีกได้ และจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทและผู้สืบสิทธิในกองมรดกของ ส. ก็ไม่มีสิทธิโต้แย้งดุจเดียวกัน คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งห้าล้วนเป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินทั้งสิ้น การที่จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นแห่งคดีได้

เมื่อจำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ส. ซึ่งต้องรับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่และความรับผิดของ ส. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าโดยไม่ต้องคำนึงว่ากองมรดกของ ส. จะมีทรัพย์สินหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หรือจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทจะได้รับมรดกมาแล้วหรือไม่ และถึงแม้โจทก์ได้ใช้อำนาจยึดอายัดทรัพย์สินของ ส. ชำระหนี้ไปบ้างแล้ว และมีจำนวนเพียงพอชำระหนี้ของ ส. หรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอาจโต้แย้งได้ในชั้นบังคับคดี จำเลยทั้งห้าจึงต้องรับผิดชำระหนี้ของ ส. แก่โจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601
(วรรคแรก ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2547)

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 15,201,256.51 บาท แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2541 หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คดีก่อนอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเป็นคดีที่นายสมบูรณ์เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กับขอให้จำเลยคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้หักไว้ ณ ที่จ่ายเกิน ตลอดจนขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นประเด็นที่ศาลในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2541 ส่วนคดีนี้แม้โจทก์จะนำหนี้ภาษีอากรค้างในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งห้าให้รับผิด แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า หนี้ภาษีอากรค้างที่นายสมบูรณ์เป็นหนี้อยู่แก่โจทก์ในคดีดังกล่าวนั้น นายสมบูรณ์ยังมิได้ชำระแก่โจทก์โดยครบถ้วน และนายสมบูรณ์ได้ถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมบูรณ์มีหน้าที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวของนายสมบูรณ์แก่โจทก์ โดยจะต้องนำทรัพย์สินกองมรดกของนายสมบูรณ์ที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งห้ามาชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้เตือนให้จำเลยทั้งห้าชำระแล้ว แต่เพิกเฉย และมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ร่วมกันชำระค่าภาษีอากรที่นายสมบูรณ์ยังมิได้ชำระแก่โจทก์ ประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายสมบูรณ์มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรของนายสมบูรณ์แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับประเด็นในคดีก่อนที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2541 ดังกล่าว จริงอยู่แม้จำเลยทั้งห้าอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสิทธิของนายสมบูรณ์ผู้ตายดังความเห็นของศาลภาษีอากรกลางก็ตาม แต่สภาพแห่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายสมบูรณ์ให้รับผิดในหนี้ที่นายสมบูรณ์มีอยู่แล้วแก่โจทก์ซึ่งเป็นความรับผิดของทายาทโดยเฉพาะต่อกองมรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 กรณีเช่นนี้จึงมิใช่เรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2541 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายังเห็นต่อไปด้วยว่า แม้คดีที่นายสมบูรณ์เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยดังกล่าว ศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2541 ที่พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง โดยให้งดเบี้ยปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าให้แก่นายสมบูรณ์โจทก์ในคดีนั้นทั้งหมด อันมีผลให้หนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง ซึ่งอธิบดีโจทก์มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายสมบูรณ์ได้เองตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายหนึ่งที่บัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีโจทก์ไว้เป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วโดยไม่ต้องนำคดีมาสู่ศาล อำนาจของอธิบดีโจทก์เช่นว่านี้แม้จะมีลักษณะเสมือนเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ก็หามีผลทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างกลับกลายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไปไม่ ทั้งการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสมบูรณ์ผู้ตายเช่นนี้ ก็เพื่อให้ความรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างของนายสมบูรณ์ที่จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดแก่โจทก์ เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ได้

จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมบูรณ์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายสมบูรณ์ จำเลยทั้งห้าจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมบูรณ์ผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง และมาตรา 1629 (1) และอยู่ในลำดับมีสิทธิได้รับมรดกของนายสมบูรณ์ด้วยกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 1635 (1) เมื่อกองมรดกของนายสมบูรณ์ตกทอดแก่จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาท และกองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องบังคับจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ให้รับผิดชำระหนี้ภาษีอากรค้างของนายสมบูรณ์ที่มีต่อโจทก์ได้ และหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้ารับผิดเป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่เจ้าพนักงานได้ประเมินให้นายสมบูรณ์ชำระ นายสมบูรณ์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว นายสมบูรณ์ก็ได้อุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางโดยฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยขอให้ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1967/2541 ซึ่งพิพากษาแก้เพียงให้งดเบี้ยปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าให้แก่นายสมบูรณ์ทั้งหมด หนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวจึงเป็นหนี้ภาษีอากรค้างที่นายสมบูรณ์เป็นผู้มีหน้าที่ต้องรับผิดเสียภาษีอากรดังกล่าวโดยเด็ดขาดแล้ว และคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันโจทก์คดีนี้และนายสมบูรณ์ซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 นายสมบูรณ์จึงไม่อาจรื้อฟื้นโต้แย้งต่อโจทก์เกี่ยวกับการประเมินภาษีอากรดังกล่าวอีกได้ และในกรณีเช่นนี้ จำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ซึ่งต้องรับไปซึ่งทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ อันเป็นกองมรดกของผู้ตาย และอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิในกองมรดกของนายสมบูรณ์ก็ไม่มีสิทธิโต้แย้งเกี่ยวกับการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานของโจทก์ดุจเดียวกัน เมื่อคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ดังกล่าวข้างต้น ล้วนเป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินทั้งสิ้น การที่จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นแห่งคดีที่จำเลยทั้งห้าจะโต้เถียงให้ฟังแปรเปลี่ยนไปเป็นประการอื่นได้

เมื่อจำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายสมบูรณ์ผู้ตายซึ่งต้องรับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของนายสมบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ให้รับผิดในหนี้ของนายสมบูรณ์ได้ดังที่วินิจฉัยมาแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่ากองมรดกของนายสมบูรณ์จะมีทรัพย์สินหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หรือจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทจะได้รับมรดกมาแล้วหรือไม่ และถึงแม้โจทก์ได้ใช้อำนาจสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของนายสมบูรณ์ชำระหนี้ไปบ้างแล้ว และมีจำนวนเพียงพอชำระหนี้ของนายสมบูรณ์หรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอาจโต้แย้งได้ในชั้นบังคับคดีต่อไป จำเลยทั้งห้าจึงต้องรับผิดชำระหนี้ของนายสมบูรณ์แก่โจทก์ตามฟ้อง

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ร่วมกันชำระเงินจำนวน 15,201,256.51 บาท แก่โจทก์ ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยทั้งห้าไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าทนายความทั้งสองศาลให้เป็นพับ.
( สมชาย พงษธา - ทองหล่อ โฉมงาม - กำธร โพธิ์สุวัฒนากุล )
ศาลภาษีอากรกลาง - นายประสิทธิ์ สนามชวด

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/32 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาล ที่ถึงที่สุดหรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุ ความสิบปี ทั้งนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด
มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวล กฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
มาตรา 1601 ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอด ได้แก่ตน
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับ แห่ง มาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่ง ต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน...
วรรคสอง คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของ บทบัญญัติพิเศษแห่ง มาตรา 1635

มาตรา 1635 ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการ รับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดั่งต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับ มรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่ง เสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 145 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่า ด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมี คำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือ คำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี*
มาตรา 148 คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้ คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัย เหตุอย่างเดียวกันเว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือ คำสั่งของศาล
(2) เมื่อคำพิพากษา หรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์
(3) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิ โจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น ภายใต้ บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528
มาตรา 29 ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา และชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์และ ชั้นฎีกามาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีภาษีอากรในศาลฎีกา โดยอนุโลม

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ