นายจ้างมอบอำนาจบังคับบัญชาให้ผู้อื่น
บริษัทนายจ้างจ้างลูกจ้างทำงานในตำแหน่งวิศวกร บริษัทนายจ้างประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่อก๊าซ บริษัทนายจ้างรับงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทวอร์เลย์... บริษัทนายจ้างได้ส่งลูกจ้างไปทำงานให้กับบริษัทวอร์เลย์...ต่อมาเมื่องานเสร็จทางบริษัทวอร์เลย์...แจ้งให้บริษัทนายจ้างทราบว่าการปฏิบัติงานของลูกจ้างเสร็จสิ้นแล้ว จึงเป็นการส่งตัวลูกจ้างคืนบริษัทนายจ้างไม่ใช่เป็นการบอกเลิกสัญญาจ้าง และบริษัทนายจ้างเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนในการทำงานของลูกจ้างในขณะทำงานกับบริษัทวอร์เลย์...ค่าตอบแทนนั้นเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างบริษัทนายจ้างกับลูกจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของบริษัทนายจ้างจึงเป็นค่าจ้าง การที่ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทวอร์เลย์..ก็เป็นการที่บริษัทนายจ้างมอบอำนาจบังคับบัญชาให้ใช้แทนในระหว่างที่ปฏิบัติงานกับบริษัทวอร์เลย์...
_____________________________________
มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้
"ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่าย เป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำ งานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะ เวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำ งานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างให้แก่ ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับ ตามพระราชบัญญัตินี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4970/2552
จำเลยมีวัตถุประสงค์หลักคือประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่อก๊าซ จำเลยรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบในโครงการท่อส่งก๊าซให้บริษัท ว. จำเลยจ้างโจทก์เป็นวิศวกรและส่งโจทก์ไปทำงานในโครงการดังกล่าวของบริษัท ว. จำเลยเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนในการทำงานที่โจทก์ไปทำงานที่บริษัท ว. ให้โจทก์ตลอดมา อันเป็นการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของโจทก์จึงเป็นค่าจ้าง การที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและการบังคับบัญชาของบริษัท ว. นั้น เป็นกรณีที่จำเลยมอบอำนาจบังคับบัญชาบางส่วนของตนไปให้บริษัท ว. ใช้แทนจำเลยในระหว่างที่โจทก์ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับบริษัท ว. เมื่องานออกแบบเสร็จสิ้นลง บริษัท ว. มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าการปฏิบัติงานของโจทก์สิ้นสุดลง เป็นกรณีที่บริษัท ว. แจ้งส่งตัวโจทก์คืนให้จำเลย แสดงว่าอำนาจในการเลิกจ้างโจทก์ยังคงอยู่ที่จำเลย หาได้ทำให้จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย
________________________________
โจทก์ฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา 1,748 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 18,664 บาท และค่าชดเชย 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรซึ่งเป็นงานที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของจำเลยคือประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่อก๊าซโดยจำเลยรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบในโครงการท่อส่งก๊าซมาบตาพุด จังหวัดระยอง ให้บริษัทวอร์เลย์พาร์.. จำกัด จำเลยส่งโจทก์ไปทำงานในโครงการดังกล่าวของบริษัทวอร์เลย์พาร์... จำกัด โจทก์ไปทำงานที่บริษัทวอร์เลย์พาร์... จำกัด ก็ด้วยคำสั่งของจำเลยและทำงานในโครงการที่จำเลยรับจ้างจากบริษัทวอร์เลย์พาร์... จำกัด นั่นเอง เมื่องานออกแบบเสร็จสิ้นลงบริษัทวอร์เลย์พาร์... จำกัด จึงมีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าการปฏิบัติงานของโจทก์สิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นกรณีที่บริษัทวอร์เลย์พาร์... จำกัด แจ้งส่งตัวโจทก์คืนให้จำเลยเมื่อการปฏิบัติงานสิ้นสุดลง ไม่ใช่บริษัทวอร์เลย์พาร์... จำกัด บอกเลิกจ้างโจทก์ แสดงว่าอำนาจในการเลิกจ้างโจทก์ยังคงอยู่ที่จำเลย อีกทั้งจำเลยเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนในการที่โจทก์ไปทำงานที่บริษัทวอร์เลย์พาร์... จำกัด ตามคำสั่งของจำเลยให้โจทก์ตลอดมาไม่ว่าจะคำนวณค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมงหรือเป็นรายเดือนก็ตาม ค่าตอบแทนนั้นเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของโจทก์ จึงเป็นค่าจ้าง การที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและการบังคับบัญชาของบริษัทวอร์เลย์พาร์... จำกัด นั้นเป็นกรณีที่จำเลยมอบอำนาจบังคับบัญชาบางส่วนของตนไปให้บริษัทวอร์เลย์พาร์... จำกัด ใช้แทนจำเลยในระหว่างที่โจทก์ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับบริษัทวอร์เลย์พาร์... จำกัด หาได้ทำให้จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย แม้จำเลยยื่นแบบรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายของโจทก์ในฐานะผู้มีรายได้อิสระก็ไม่ทำให้นิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
( ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - มานัส เหลืองประเสริฐ )
ศาลแรงงานกลาง - นายเลิศชัย ภักดีฉนวน