ฟ้องจอดรถโดยประมาท
ขับรถโดยประมาท
ฟ้องจอดรถโดยประมาทลงโทษขับรถโดยประมาทรวมมาด้วยข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ว่าจอดรถโดยประมาท ศาลล่างทั้งสอง(ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์)ปรับบทลงโทษจำเลยฐาน ขับรถโดยประมาท ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 อีกบทหนึ่งมาด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8989/2549
คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและตามคำบรรยายฟ้องโจทก์เป็นเรื่องจำเลยจอดรถโดยประมาท มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยขับรถโดยประมาท ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 อีกบทหนึ่งมาด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก
พ.ศ.2522 มาตรา 43, 60, 148, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 60, 148, 157 (ที่ถูกต้องระบุว่าเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท) ตามประมวลกฎหมายอาญา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...คดีนี้ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องจำเลยจอดรถโดยประมาท มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 อีกบทหนึ่งมาด้วยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่าไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 และให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 3 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 7
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 158 ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
(1) ชื่อศาลและวันเดือนปี
(2) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใดจำเลย และฐานความผิด
(3) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ ถ้าราษฎรเป็นโจทก์ ให้ใส่ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับ
(4) ชื่อตัว นามสกุล ที่อยู่ ชาติและบังคับของจำเลย
(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลย เข้าใจข้อหาได้ดี
ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่น อันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง
(6) อ้าง มาตรา กฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็น ความผิด
(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง
มาตรา 195 ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้ แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่า กันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาล ชั้นต้นก็ตาม
มาตรา 225 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา และว่าด้วย คำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถ
(1) ในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ
(2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
(3) ในลักษณะกีดขวางการจราจร
(4) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคล หรือ ทรัพย์สิน
(5) ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจ แลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอ แก่ความปลอดภัย
(6) คร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่อง เดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถ
(7) บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารถ คนป่วยหรือคนพิการ
(8) โดยไม่คำนึ่งถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
มาตรา 157 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 35 มาตรา 43 (3) (4) (6) หรือ (7) มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 47 มาตรา 48 มาตรา 53 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง หรือ มาตรา 125 ต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท