ยิงเพื่อยับยั้งมิให้เข้ามาทำร้ายภายในบ้าน เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 182/2532

ป.อ. มาตรา 59, 68, 80, 288, 295

พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72

จำเลยใช้ปืนยิงโจทก์ร่วมด้านหน้าซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 3 เมตรโดยยิงไปที่ขา 3 นัด ถูกขาโจทก์ร่วม 1 นัด แล้วจำเลยไม่ได้ยิงต่ออีกถือว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายโจทก์ร่วมเท่านั้น มิได้มีเจตนาฆ่าด้วย โจทก์ร่วมถือไม้เป็นอาวุธไปที่หน้าบ้านจำเลยพร้อมกับ ส. และร้องท้าทายจำเลยให้ออกมาตีกัน แล้วโจทก์ร่วมเดินเข้าหาจำเลยจำเลยตกใจเกรงว่าโจทก์ร่วมจะเข้ามาทำร้าย จึงวิ่งไปเอาอาวุธปืนสั้นของสามีที่เก็บไว้ที่หัวนอนแล้วยิงไปที่ขาโจทก์ร่วม 3 นัด จำเลยเป็นหญิง โจทก์ร่วมมีไม้เป็นอาวุธและมากับ ส. ถือว่าจำเลยยิงโจทก์ร่วมเพียงเพื่อยับยั้งมิให้โจทก์ร่วมเข้ามาทำร้ายจำเลยเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยหยิบอาวุธปืนของกลางมาใช้เพื่อป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาครอบครองอาวุธปืนดังกล่าว

___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 ริบของกลาง จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน ระหว่างพิจารณานายเฉลา จันทมีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 72 จำคุก 6 เดือน ผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี ริบของกลางโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมฎีกาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมเฉพาะในปัญหาว่า การที่จำเลยทำร้ายโจทก์ร่วมเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เฉพาะฎีกาของโจทก์ร่วมที่ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นั้น เห็นว่าแม้ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ได้ น่าจะหมายถึงให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 เท่านั้น ส่วนข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายจึงเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้นโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าและป้องกันตัวนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า “จำเลยใช้อาวุธปืนยิงถูกต้นขาซ้ายโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กาย ปัญหาในชั้นฎีกามีว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมาหรือไม่ เห็นว่าที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยยิงโจทก์ร่วมทางด้านหลังนั้น ก็ปรากฏจากผลการตรวจชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องว่า โจทก์ร่วมมีบาดแผลที่ต้นขาซ้ายด้านนอกทะลุต้นขาซ้ายด้านหลัง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยยิงจากทางด้านหน้า มิได้ยิงจากด้านหลัง แม้โจทก์ร่วมจะเบิกความว่าจำเลยยิงปืนจากด้านหลังเมื่อโจทก์ร่วมเดินหันหลังกลับแล้วก็ไม่มีเหตุผลให้น่าเชื่อถือ เพราะตามคำเบิกความของนายสุชาติ สุนทรโชติพยานโจทก์นั้นได้ความว่า พยานอยู่กับโจทก์ร่วมขณะเกิดเหตุ เมื่อโจทก์ร่วมพูดกับจำเลยว่ามึงด่ากูหรือ ทันใดนั้นพยานก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด ตามคำเบิกความของพยานปากนี้เห็นได้ว่า จำเลยยิงจากทางด้านหน้าเพราะเมื่อโจทก์ร่วมพูดกับจำเลยดังกล่าวนั้น โจทก์ร่วมย่อมจะต้องหันหน้าพูดกับจำเลย เมื่อจำเลยยิงทันที จำเลยจะยิงจากทางด้านหลังได้อย่างไร นอกจากนี้นายสุชาติก็เบิกความยอมรับว่าขณะจำเลยยิงโจทก์ร่วมนั้น จำเลยอยู่ห่างโจทก์ร่วมประมาณ 3 เมตรตรงกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.3 ตามเอกสารฉบับนี้แม้จะระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น แต่จำเลยก็ให้การว่าโจทก์ร่วมถือไม้มาที่หน้าบ้านของจำเลยกับนายสุชาติ แล้ว โจทก์ร่วมร้องท้าให้จำเลยออกมาตีกัน โจทก์ร่วมเข้ามาใกล้กับบ้านจำเลยมาก จำเลยตกใจเกรงว่าโจทก์ร่วมจะเข้ามาทำร้าย จึงใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม ตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวนั้น จำเลยให้การไว้ ในวันเกิดเหตุนั้นเอง จึงมีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ โจทก์ร่วมเองก็ยอมรับว่าก่อนเกิดเหตุประมาณ 5-6 ปี เคยถูกจำเลยใช้ค้อนตีศีรษะ และนายสุชาติก็รับว่าก่อนเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยร้องด่าโจทก์ร่วมว่าดื่มสุราส่งเสียงเอะอะเจือสมกับพยานจำเลย ตามพฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมถือไม้เป็นอาวุธไปที่หน้าบ้านจำเลยพร้อมกับนายสุชาติ และร้องท้าทายจำเลยออกมาตีกัน โจทก์ร่วมเดินเข้าหาจำเลย จำเลยตกใจเกรงว่า โจทก์ร่วมจะเข้ามาทำร้ายจึงวิ่งไปเอาอาวุธปืนสั้นของสามีที่เก็บไว้ที่หัวนอนแล้วยิงไปที่ขาโจทก์ร่วม 3 นัด โดยเจตนาทำร้ายโจทก์ร่วม เมื่อถูกขาโจทก์ร่วม1 นัด จำเลยก็ไม่ยิงต่อไป ชี้ให้เห็นว่าจำเลยยิงโจทก์ร่วมเพียงเพื่อยับยั้งมิให้โจทก์ร่วมเข้ามาทำร้ายจำเลยในบ้านเท่านั้น ซึ่งตามภาพถ่ายหมาย จ.5 แผ่นที่ 2 เห็นได้ว่า โจทก์ร่วมซึ่งอยู่หน้าบ้านสามารถก้าว เข้าไปทำร้ายจำเลยในบ้านได้โดยง่าย จำเลยเป็นหญิงโจทก์ร่วมมีไม้เป็นอาวุธและมากับนายสุชาติ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ทั้งเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 สำหรับฎีกาโจทก์ข้อหาฐานมีอาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เมื่อปรากฏว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นของนายก่ำสามีจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่จำเลยหยิบอาวุธปืนดังกล่าวมาใช้ป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายในกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าจำเลยมีเจตนาครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวจำเลยจึงหามีความผิดฐานนี้ไม่ ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ของกลางไม่ริบ

(ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล-สง่า ศิลปประสิทธิ์-ศักดา โมกขมรรคกุล)

แหล่งที่มา

เนติบัณฑิตยสภา

แผนก

หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้น

หมายเหตุ

หากมีข้อสงสัยประการใดติดต่อ ที่นี้เลย  Tel/Line id : 089-2142456 (ทนายสอง ประธานชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)

Line id : lawyer_2  ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)

ท่านสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษาข้อกฎหมาย คำพิพากษา ได้ที่ www.ปรึกษาคดีฟรี.com

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ