หนี้สินอันเกิดจากมูลละเมิดระงับสิ้นไป

สัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2540

คู่กรณีลงลายมือชื่อไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า ยอมรับผิดในความประมาทเลินเล่อและยอมชดใช้ค่าเสียหาย 6,000 บาท จากค่าเสียหายประมาณ 10,550 บาท หากไม่ชำระตามกำหนดให้ฟ้องร้องทางแพ่งได้นั้น เป็นการตกลงชำระค่าเสียหายกันเป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว ถือได้ว่าตกลงระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับค่าเสียหายซึ่งเกิดจากมูลละเมิดขับรถชนกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลทำให้การเรียกร้องในหนี้สินอันเกิดจากมูลละเมิดระงับสิ้นไปและทำให้คู่กรณีได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น

การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดในความประมาทเลินเล่อและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 6,000บาท จากค่าเสียหายประมาณ 10,550 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระตามกำหนดให้โจทก์ฟ้องร้องทางแพ่งได้นั้น เป็นการตกลงชำระค่าเสียหายกันเป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับค่าเสียหายซึ่งเกิดจากมูลละเมิดขับรถชนกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องในหนี้สินอันเกิดจากมูลละเมิดระงับสิ้นไปและทำให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดระงับไปแล้วความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างย่อมระงับไปด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยทั้งสาม ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ฎีกามาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ขับรถโดยสารประจำทางไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์ที่โจทก์ขับมาเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 11,308.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,550 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เสียหายไม่เกิน 5,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ตามสำเนาบันทึกประจำวันสถานีตำรวจนครบาลพญาไท เป็นผลให้มูลหนี้ละเมิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์เสียหายไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ข้อความตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.12 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารประจำทางเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์ขับมาเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เสียหายแล้วพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไท ได้ลงบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีแล้วให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.12 เห็นว่า ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย จ.12 มีข้อความว่า "...หลังเกิดเหตุ นางแก้วตาฯ ยินยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โดยจะทำการตกลงชดใช้ให้นายนพพรฯ เป็นเงิน 6,000 บาท โดยนัดจะชำระเงินในวันที่10 มิถุนายน 2536 (ค่าเสียหายประมาณ 10,550 บาท) ถ้าหากนางแก้วตาไม่ชำระภายในกำหนด นายนพพรจะได้ทำการฟ้องร้องทางแพ่งต่อไป..." ดังนั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันตามข้อความนั้นแล้ว ซึ่งตามข้อความดังกล่าวก็ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดในความประมาทเลินเล่อและยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 6,000 บาท จากค่าเสียหายประมาณ 10,550 บาท ในวันที่ 10 มิถุนายน 2536 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระตามกำหนด โจทก์จะฟ้องร้องทางแพ่ง เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงชำระค่าเสียหายกันเป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว หากไม่ชำระตามกำหนดก็จะถูกฟ้องร้องทางแพ่งถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับค่าเสียหายซึ่งเกิดจากมูลละเมิดขับรถชนกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องในหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดขับรถชนกันระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดระงับไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดนั้น และย่อมทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างระงับไปด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้เช่นกัน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น และแม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ฎีกา แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 2 ฎีกานั้น เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบมาตรา 247"

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

( ดุสิต เพชรปลูก - ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา - ทวีชัย เจริญบัณฑิต )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

หมายเหตุ

การที่ลูกจ้างทำละเมิดในทางการที่จ้างแล้วต่อมาไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้เสียหาย นายจ้างไม่ต้องรับผิดต่อผู้เสียหายตามสัญญาดังกล่าวด้วย แต่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่านายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างต่อผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 อยู่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1000/2505) ต่อมาศาลฎีกาเปลี่ยนแนววินิจฉัยใหม่เป็นว่านายจ้างไม่ต้องรับผิดต่อผู้เสียหายต่อไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2506, ที่ 601/2507 และที่ 296/2508) ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่บันทึกอยู่นี้เดิมตามในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2507 ซึ่งวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ให้เหตุผลว่า

"...แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ในกรณีเช่นนี้จำเลยที่ 1 โดยตนเองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด หากแต่มาตรา 425... บัญญัติให้จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นนายจ้างต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเท่านั้น เมื่อหนี้ในมูลละเมิดในกรณีนี้ได้ระงับสิ้นไปแล้ว โดยผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ทำไว้กับจำเลยที่ 2ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 425 ก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย เพราะไม่มีหนี้ในมูลละเมิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1ในฐานะที่เป็นนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมด้วยต่อไปอีก..."

กรณีข้างต้นเป็นกรณีที่ลูกจ้างไปตกลงกับผู้เสียหายเองโดยลำพัง แต่ถ้านายจ้างร่วมตกลงด้วยแล้วนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความกับลูกจ้างด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2528)

ปัญหามีว่านายจ้างร่วมกระทำละเมิดกับลูกจ้างด้วยหรือไม่ ถ้าใช่ ลูกจ้างกับนายจ้างจะต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 และการที่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งจะหลุดพ้นจากหนี้โดยการกระทำของลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งซึ่งไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292-295 ว่า การกระทำนั้นเป็นประโยชน์เฉพาะตัวลูกหนี้ร่วมนั้นหรือเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วย แต่ถ้าไม่ใช่ หนี้ที่ลูกจ้างกับนายจ้างจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายย่อมเป็นหนี้คนละอันกันแต่มีความเกี่ยวเนื่องถึงกันเป็นทำนองหนี้ประธานกับหนี้อุปกรณ์เช่นเดียวกับหนี้ของลูกหนี้กับของผู้ค้ำประกันซึ่งเมื่อหนี้อันแรกระงับหนี้อันหลังย่อมระงับตามไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698

ผู้บันทึกเห็นด้วยกับคำตอบแรกเพราะว่าแม้พื้นฐานที่ลูกจ้างกับนายจ้างจะต้องรับผิดทางละเมิดต่อผู้เสียหายจะแตกต่างกัน แต่ความรับผิดของแต่ละคนก็เกิดเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างนั่นเอง กล่าวคือ ละเมิดเป็นมูลแห่งหนี้ประการหนึ่งเมื่อลูกจ้างกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกในทางการที่จ้าง กฎหมายกำหนดตัวบุคคลให้ต้องรับผิด 2 คน คือ ลูกจ้างกับนายจ้าง ความรับผิดของลูกจ้างเป็นความรับผิดในการกระทำของตนเองโดยมีพื้นฐานอยู่บน "ความผิด"(Liabilitybasedonfault) ส่วนความรับผิดของนายจ้างเป็นความรับผิดในการกระทำของคนอื่น (Vicariousliability) โดยมีพื้นฐานอยู่บน "ความผิดที่ถูกสันนิษฐาน"(Liabilitybasedonpresumedfault) ซึ่งเป็นชนิดเด็ดขาด นายจ้างจะนำสืบหักล้างว่าตนไม่มีความผิดไม่ได้ ในอีกแง่หนึ่งอาจถือว่ามีพื้นฐานอยู่บน "ความรับผิดเด็ดขาด"(Strictliability) ก็ได้ เมื่อพิจารณาว่านายจ้างเองแม้จะไม่ได้กระทำความผิดเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำความผิดของลูกจ้างด้วย นายจ้างจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำละเมิดด้วยคนหนึ่ง มิใช่ว่าลูกจ้างกระทำละเมิดแต่ผู้เดียว นายจ้างไม่ได้ทำละเมิดด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างจึงเป็นลูกหนี้ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 กรณีจึงต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้กับผู้ค้ำประกันซึ่งหนี้ที่แต่ละคนจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เป็นหนี้คนละอันกัน มิใช่ลูกหนี้ร่วมในหนี้อันเดียวกันเพียงแต่อาจมีการตกลงกันรับผิดต่อเจ้าหนี้เสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้อันเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691

ผลของการเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้อันเดียวกันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียหายกับนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องการทำให้หนี้ค่าสินไหมทดแทนนั้นระงับเป็นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292-295 โดยจะต้องพิจารณาว่าการทำให้หนี้ระงับมีผลเป็นประโยชน์เฉพาะตัว ลูกหนี้ร่วมที่กระทำหรือเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วย เฉพาะการแปลงหนี้ใหม่ไม่มีบทมาตราใดกล่าวถึงไว้โดยตรงทำให้มีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ความเห็น ดังนี้

ความเห็นแรกเห็นว่า การที่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งตกลงกับเจ้าหนี้ทำการแปลงหนี้ใหม่เป็นผลให้หนี้เดิมระงับแล้วผูกพันกันตามหนี้ใหม่อยู่ในความหมายของคำว่า "ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสอง อันเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ ผลของการแปลงหนี้ใหม่จึงเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ร่วมคนอื่น ๆ ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ เจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งชำระหนี้เดิมไม่ได้ เจ้าหนี้ชอบแต่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ร่วมซึ่งตกลงแปลงหนี้ใหม่ด้วยเท่านั้นชำระหนี้ตามที่เกิดขึ้นใหม่ จะบังคับให้ลูกหนี้ร่วมคนอื่นซึ่งมิได้ร่วมตกลงชำระหนี้นั้นด้วยไม่ได้

ความเห็นที่สองเห็นว่า ผลของการเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่เป็นประโยชน์เฉพาะตัวลูกหนี้ร่วมที่ตกลงกับเจ้าหนี้ทำการแปลงหนี้ใหม่เพราะการแปลงหนี้ใหม่มิใช่การที่ถูกระบุยกเว้นไว้ว่าให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292-295 จึงต้องถือว่าเป็นการอันเป็นประโยชน์เฉพาะตัวลูกหนี้ร่วมนั้นเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 295

ผู้บันทึกเห็นด้วยกับความเห็นที่สอง ในเรื่องลูกหนี้ร่วมนั้นเดิมมีแนวความคิดพื้นฐานมาจากหลักกฎหมายโรมันว่าหนี้ร่วมจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่อาจแบ่งแยกได้ ลูกหนี้ร่วมทุกคนจะต้องได้ประโยชน์ด้วยกันและเสียประโยชน์ด้วยกันแม้ว่าการได้หรือเสียนั้นเกิดจากการกระทำของลูกหนี้ร่วมแต่บางคน แต่ต่อมาหลักกฎหมายดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนไปเป็นว่าเฉพาะการได้ประโยชน์เท่านั้นที่ลูกหนี้ร่วมคนหลังกระทำแล้วจะมีผลถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วยโดยได้รับอิทธิพลจากหลักกฎหมายที่ว่าการกระทำแทนผู้อื่นจะมีผลเฉพาะเมื่อการกระทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเท่านั้น ต่อมาแนวความผิดดังกล่าวได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในเรื่องลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย การแปลงหนี้ใหม่เป็นการระงับหนี้เดิมแล้วมาผูกพันกันตามหนี้ใหม่ ถ้าลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งตกลงกับเจ้าหนี้ทำการแปลงหนี้ใหม่แทนลูกหนี้ร่วมคนอื่นได้โดยมิใช่เป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากหลายคนเป็นเฉพาะตัวลูกหนี้ร่วมที่ตกลงนั้นคนเดียวตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 แล้ว ลูกหนี้ร่วมคนอื่นก็จะต้องพลอยถูกผูกพันตามหนี้ใหม่ไปด้วย หนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ร่วมคนอื่นก็ได้ เช่น ลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างไปชนบุคคลภายนอกได้รับบาดเจ็บสาหัส ด้วยความกลัวว่าจะต้องโทษจำคุกจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้เสียหายให้ค่าสินไหมทดแทนมากเกินกว่าที่จะเรียกร้องกันได้ตามกฎหมาย เป็นต้น การยอมให้ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งตกลงกับเจ้าหนี้เช่นนั้นได้โดยให้มีผลไปถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วยจึงขัดกับแนวความคิดข้างต้นและข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292-295เองอย่างชัดแจ้งว่าเฉพาะกิจการที่เป็นประโยชน์เท่านั้นจึงจะมีผลไปถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นได้

ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมาและที่บันทึกอยู่นี้มักเป็นเรื่องที่คู่กรณีตกลงค่าสินไหมทดแทนในสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ต่ำกว่าที่ควรจะได้ตามจริงและลูกจ้างชำระเงินให้แก่ผู้เสียหายเสร็จสิ้นไปแล้ว ภายหลังผู้เสียหายกลับมาฟ้องทั้งลูกจ้างและนายจ้างอีก ถ้าศาลตัดสินให้นายจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นกว่าที่ตกลงกันไว้ก็จะไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างเพราะนายจ้างอาจกลับมาไล่เบี้ยเอาส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นจากลูกจ้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 แนววินิจฉัยของศาลฎีกาจึงเป็นธรรม อย่างไรก็ตามการนำแนววินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับกรณีที่ลูกจ้างยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่ผู้เสียหายเลยอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้เพราะจะทำให้ผู้เสียหายเสียสิทธิที่จะเรียกร้องเอาใช้ค่าสินไหมทดแทนจากนายจ้างไป ครั้นจะไปเรียกร้องเอาจากลูกจ้าง ๆ ก็ไม่มีเงินให้ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายลักษณะละเมิดที่ให้นายจ้างร่วมรับผิดกับลูกจ้างเมื่อเหตุละเมิดเกิดขึ้นในทางการที่จ้างเพราะนายจ้างเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการงานที่จ้างและอยู่ในฐานะที่สามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ดีกว่า นอกจากนี้ บุคคลธรรมดาย่อมคาดหมายไม่ได้ว่าการที่ตนเป็นผู้เสียหายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ทำละเมิดจะทำให้ตนเสียเปรียบยิ่งกว่าไม่ได้ตกลงทำ และจะกลายเป็นการสนับสนุนให้มีการฟ้องร้องคดีกันโดยไม่จำเป็นไป ผู้บันทึกเห็นว่า ศาลฎีกาน่าจะได้วางแนววินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นธรรมกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทุกกรณีด้วยการตีความสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างผู้เสียหายกับลูกจ้างเสียใหม่ดังนี้

1. ในกรณีที่หลังจากตกลงกันแล้วลูกจ้างชำระเงินให้ทันที ย่อมแสดงว่าผู้เสียหายมีเจตนาจะให้เฉพาะตัวลูกจ้างซึ่งกำลังเจรจาตกลงกันอยู่เท่านั้นเป็นผู้ชำระเงินจึงเป็นการตกลงแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากลูกหนี้สองคนเป็นคนเดียวคือตัวลูกจ้างเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ซึ่งเป็นประโยชน์กับนายจ้าง การแปลงหนี้ใหม่ย่อมกระทำได้เพราะถือได้ว่าไม่เป็นการขืนใจนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้เดิม

2. ในกรณีที่ตกลงกันให้ลูกจ้างชำระเงินภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่ง ย่อมแสดงว่าผู้เสียหายไม่ได้มีเจตนาดังกล่าว แต่ยังประสงค์จะเรียกร้องเอาจากทั้งลูกจ้างและนายจ้างอยู่ เพราะการยอมผ่อนปรนให้ชำระเงินได้ในภายหลังน่าจะเนื่องมาจากว่าผู้เสียหายเชื่อมั่นว่า ตนจะได้รับชำระเงินแน่นอนซึ่งจะเกิดขึ้นก็เฉพาะเมื่อผู้เสียหายเข้าใจว่านายจ้างซึ่งอยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระเงินได้ดีกว่าลูกจ้างจะชำระให้ การแปลงหนี้ใหม่ย่อมเป็นคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกจ้างเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 วรรคแรก หากตกลงชำระเงินกันมากกว่าที่เสียหายจริง เจ้าหนี้คงรับผิดต่อผู้เสียหายเท่ากับที่เสียหายจริงเท่านั้น แต่หากตกลงชำระเงินกันน้อยกว่าที่เสียหายจริง น่าจะต้องถือว่าสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นประโยชน์แก่นายจ้างเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350วรรคแรกตอนท้าย มีผลให้สัญญาดังกล่าวผูกพันนายจ้างด้วยเพราะหากถือว่าการตกลงทำสัญญาดังกล่าวเป็นประโยชน์เฉพาะตัวลูกจ้างแล้วจะขัดกับสภาพแห่งหนี้ร่วมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 ซึ่งให้นายจ้างไล่เบี้ยเอากับลูกจ้างได้เต็มจำนวน ลูกจ้างกับนายจ้างจะไม่ได้ประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความเลย ถ้าผู้เสียหายสามารถเรียกให้นายจ้างรับผิดได้ตามที่เสียหายจริงและรับช่วงสิทธิไปเรียกร้องเอากับลูกจ้างได้เท่าจำนวนนั้น

เลิศชายจิวะชาติ

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ