อ้างเหตุเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย
นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างไปตกลงต่อรองขอลดภาษีโรงเรือนโดยเสนอจ่ายค่าอำนาวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่เขตจนการเจรจากันทำให้นายจ้างจ่ายภาษีโรงเรือนลดลงเป็นการมอบเงินเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย เจ้าหน้าที่ย่อมไม่ลงชื่อรับเงิน ลูกจ้างทำงานฝ่ายบัญชีละการเงินตรวจและผ่านเอกสารเกี่ยวกับเงินที่จ่ายให้เจ้าหน้าที่โดยไม่มีลายมือชื่อผู้รับเงินจะถือว่าลูกจ้างประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างเสียหายอย่างร้ายแรงและนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างไม่ได้ เพราะนายจ้างใช้ลูกจ้างไปทำผิดกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4919/2552
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของจำเลยไปเจรจาต่อรองขอลดภาษีโรงเรือนโดยตกลงจ่ายค่าอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่เขตเป็นเงิน 350,000 บาท ต่อมาได้ให้โจทก์ไปต่อรองขอลดค่าอำนวยความสะดวกเหลือ 120,000 บาท และได้จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่เขตไปแล้ว จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ตรวจและผ่านเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกโดยไม่มีชื่อและลายมือชื่อผู้รับเงินไว้เป็นหลักฐานเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงไม่ได้ เพราะการจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกเพื่อให้เจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย เป็นการที่จำเลยใช้ให้โจทก์ไปทำผิดกฎหมาย เมื่อโจทก์ปฏิบัติตามแล้วเกิดข้อบกพร่องอย่างไรจำเลยจะนำเหตุนั้นมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 360,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 212,000 บาท ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดตามประเพณี 84,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 9,000 บาท รวมเป็นเงิน 665,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์สละข้อเรียกร้องค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 360,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 208,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 9,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าชดเชยและในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 มิถุนายน 2543) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2542 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินได้เงินเดือนเดือนละ 120,000 บาท และสวัสดิการค่าบริการอีกเดือนละ 3,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างเหตุเลิกจ้าง 3 ประการ ข้อแรกที่ว่าลูกค้าชำระเงินโดยออกใบเสร็จรับเงินแล้ว โจทก์ไม่นำเงินบางส่วนส่งให้แก่จำเลยทันทีนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2542 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้เช่าสถานที่โรงแรมของจำเลยเพื่อจัดเลี้ยงในราคา 51,350 บาท แต่ให้จำเลยออกใบเสร็จรับเงินเกินกว่าจริงในราคา 81,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าจะจ่ายค่าภาษีให้จำเลยและมอบเงินจำนวน 5,900 บาท ให้แก่จำเลยเพื่อหักภาษีจำนวน 1,944.18 บาท ยังคงเหลือเงินประมาณ 4,000 บาท โจทก์นำเข้าบัญชีจำเลย ในเดือนธันวาคม 2542 ซึ่งนางสาวธิติพร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของจำเลยเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายแล้ววินิจฉัยว่าแม้โจทก์จะนำเงินจำนวน 4,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากเข้าบัญชีของจำเลยล่าช้าไปบ้าง เมื่อโจทก์เป็นผู้สั่งให้นำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของจำเลยเองโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ส่งมอบ ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะมีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย สำหรับเหตุเลิกจ้างประการที่ 2 ที่ว่า โจทก์ตรวจและผ่านเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกในเรื่องภาษีโรงเรือนประจำปี 2542 โดยไม่มีชื่อและลายมือชื่อของผู้รับเงินไว้เป็นหลักฐาน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยค้างชำระค่าภาษีโรงเรือนประจำปี 2541 เป็นเงินประมาณ 3,000,000 บาท นางสาวธิติพร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของจำเลยไปตกลงกับเจ้าหน้าที่ขอให้ประเมินภาษีลดลงโดยจะจ่ายค่าอำนวยความสะดวกเป็นเงิน 350,000 บาท ต่อมาจำเลยให้โจทก์ไปต่อรองแล้วนางสาวธิติพรอนุมัติจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่จำนวน 120,000 บาท แต่เจ้าหน้าที่ไม่ลงลายมือชื่อรับเงินแล้ววินิจฉัยว่า การจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกเพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยลดลงอันเป็นการมอบเงินเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย เจ้าหน้าที่ย่อมไม่ลงลายมือชื่อรับเงิน เมื่อมีหลักฐานการตรวจสอบและอนุมัติจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ย่อมถือได้ว่าโจทก์กระทำไปโดยสมควรตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว หลังจากจ่ายเงินจำเลยไม่ถูกประเมินภาษีโรงเรือนประจำปี 2542 ในจำนวนที่สูงอีกและไม่ต้องจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกซ้ำซ้อนอีก การกระทำของโจทก์จึงมิได้เป็นการฝ่าฝืนกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของจำเลย และไม่ได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ส่วนเหตุเลิกจ้างประการที่ 3 ที่อ้างว่าโจทก์จ่ายเงินเดือนให้แก่ตนเองและพนักงานอื่นเกินไปกว่าที่ควรได้รับและระงับการจ่ายเงินเดือนนางสาวนุช โดยไม่รายงานตามขั้นตอน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มิได้เพิ่มเงินเดือนให้แก่ตนเองและพนักงานอื่นโดยมิชอบ จำเลยโดยนางสาวธิติพร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่เป็นผู้สั่งระงับการจ่ายเงินเดือนนางสาวนุชเนื่องจากนางสาวนุชไม่ได้ลงบัญชีรายได้ให้ถูกต้องแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบของจำเลยเช่นกัน การที่จำเลยเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม...
อุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2 ที่ว่า เมื่อลูกค้าชำระเงินและออกใบเสร็จรับเงินให้แล้วโจทก์ไม่ได้นำเงินบางส่วนส่งให้จำเลยทันที กลับนำเข้าบัญชีที่ 2 ของจำเลย หลังจากนั้นประมาณ 4 เดือน แม้จำนวนเงินไม่มากถือว่ามีเจตนาทุจริตแล้วนั้น เห็นว่า ถ้าโจทก์มีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินจำนวน 4,000 บาท โจทก์คงไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีที่ 2 ของจำเลยด้วยตนเอง การส่งเงินให้จำเลยล่าช้าเพียงอย่างเดียวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกเงินของจำเลย สำหรับอุทธรณ์ที่ว่า โจทก์ตรวจและผ่านเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกในเรื่องภาษีโรงเรือนประจำปี 2542 โดยไม่มีชื่อและลายมือชื่อผู้รับเงินไว้เป็นหลักฐานการกระทำของโจทก์จึงเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงนั้น เห็นว่า การจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกเพื่อให้เจ้าพนักงานผู้ประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยลดลง อันเป็นการมอบเงินเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย เป็นการที่จำเลยใช้ให้โจทก์ไปทำผิดกฎหมาย เมื่อโจทก์ปฏิบัติตามแล้วเกิดข้อบกพร่องอย่างไรจำเลยจะนำเหตุนั้นมาเป็นเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้
ส่วนอุทธรณ์ที่ว่าโจทก์จ่ายเงินเดือนให้แก่ตนเองและพนักงานอื่นเกินกว่าควรที่จะได้รับและระงับการจ่ายเงินเดือนนางสาวนุชโดยไม่รายงานตามขั้นตอนเป็นการทุจริตต่อหน้าที่นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มิได้จ่ายเงินเดือนให้แก่ตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบโจทก์มิได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์มิได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุที่สมควรและเพียงพอ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ...
สำหรับอุทธรณ์ข้อ 3.2 ของจำเลยที่ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ ขอคิดดอกเบี้ยค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้ร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องแม้จะอ้างเพื่อความยุติธรรมตามกฎหมาย เมื่อมีข้อโต้เถียงว่า จำเลยต้องชำระหรือไม่ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้แล้วว่า ค่าชดเชยนายจ้างต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 แม้โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่เพื่อความยุติธรรมอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เห็นสมควรให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวย่อมทำได้ตามกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
( วิเทพ พัชรภิญโญพงศ์ - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - พิทยา บุญชู )
ศาลแรงงานกลาง - นายพงษ์รัตน์ เครือกลิ่น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119