เช็คไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย
เช็คไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย
กฎหมายห้ามไม่ให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ การที่นิติบุคคลจัดให้มีการเล่นแชร์จึงตกเป็นโมฆะ สมาชิกวงแชร์เข้าร่วมเล่นแชร์ และได้เช็คที่นิติบุคคลจ่ายชำระค่าแชร์ที่ประมูลได้ เมื่อการเล่นแชร์ตกเป็นโมฆะ เช็คที่ได้รับจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่มีสิทธิเรียกร้องตามเช็ค
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2544
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้เป็นนายวงจัดให้มีการเล่นแชร์ โจทก์เป็นกรรมการบริษัท ก. โจทก์ในนามบริษัทดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ร่วมเข้าเล่นแชร์ดังกล่าวรวม 2 วง ต่อมาโจทก์ประมูลแชร์ทั้งสองวงได้ และได้รับเช็คพิพาทรวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง ต่อมา เช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายแม้เช็คพิพาททั้งสองฉบับจะระบุจ่าย "บริษัท ก." แต่ก็มิได้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 และมีอำนาจฟ้อง แต่แชร์ทั้งสองวงดังกล่าว มีนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 5 นิติกรรมการเล่นแชร์ทั้งสองวง จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิ เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองเพื่อเป็นฉบับประกันในการเล่นแชร์ อีกทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ เนื่องจากเป็นเช็คที่ออกประกันการเล่นแชร์ที่มีนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ตั้งวงแชร์โดยจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และออกเช็คพิพาทไว้ ต่อมาบริษัทเกียรติบุญชัยค้าไม้ จำกัด ประมูลแชร์ได้ จำเลยที่ 2 จึงมอบเช็คให้บริษัทดังกล่าวเพื่อไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 โจทก์มิใช่ผู้ร่วมเล่นแชร์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธินำเช็คไปเรียกเก็บเงิน โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที. เอ็ม. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้เป็นนายวงจัดให้มีการเล่นแชร์ โจทก์เป็นกรรมการบริษัทเกียรติบุญชัยค้าไม้ จำกัด กับจำเลยที่ 1 ร่วมเข้าเล่นแชร์ ดังกล่าวรวม 2 วง ต่อมาโจทก์ประมูลแชร์ทั้งสองวงได้ และได้รับเช็คพิพาทรวม 2 ฉบับ คือเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักสาขาพลับพลาไชย เลขที่ 2906150 และ 2948062 เช็คพิพาททั้งสองฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 150,000 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง ต่อมาเช็คพิพาท ทั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย แล้ววินิจฉัยว่า แม้เช็คพิพาททั้งสองฉบับจะระบุจ่าย "บริษัทเกียรติบุญชัยค้าไม้ จำกัด" แต่ก็หาได้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกไม่ ดังนี้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 และมีอำนาจฟ้อง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อแชร์ทั้งสองวงดังกล่าวมี นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 5 นิติกรรมการเล่นแชร์ ทั้งสองวงจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงไม่มีมูลหนี้ ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ
พิพากษายืน.
( สมชาย จุลนิติ์ - ระพินทร บรรจงศิลป - ชวลิต ตุลยสิงห์ )
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา 900 บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะได้รับ ผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงได หรือ ลายพิมพ์นิ้วมือ อ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้ แม้ถึงว่าจะมี พยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน นั้นไม่
มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ใน ครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็น ตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน
พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534
มาตรา 5 ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์