สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน

สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน
สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทนและมีค่าตอบแทนซึ่งผู้ขายและผู้ซื้อต่างก็มีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและกัน กล่าวคือผู้ขายมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อและผู้ซื้อมีหน้าที่จะต้องใช้ราคาให้แก่ผู้ขายตามที่ตกลงกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6470/2548

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ประกอบกิจการค้าขายเฟอร์นิเจอร์ ใช้ชื่อร้านว่า แสงชัยเฟอร์นิเจอร์ และจำเลยที่ 2 ได้สั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ในชื่อแสงชัยเฟอร์นิเจอร์ เมื่อจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังคงสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ในชื่อแสงชัยเฟอร์นิเจอร์ การที่โจทก์ส่งสินค้าตามที่จำเลยที่ 2 สั่งในชื่อแสงชัยเฟอร์นิเจอร์ก่อนที่จะจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 แต่เมื่อจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 แล้วการซื้อสินค้าของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปถือเอาประโยชน์จากสินค้าที่โจทก์ส่งไปให้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ด้วย

ก่อนจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ประกอบกิจการค้าขายเฟอร์นิเจอร์ใช้ชื่อร้านว่า ส.เฟอร์นิเจอร์ และจำเลยที่ 2 ได้สั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ในชื่อ ส.เฟอร์นิเจอร์ เมื่อจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังคงสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ในชื่อ ส.เฟอร์นิเจอร์ อีก การที่โจทก์ส่งสินค้าตามที่จำเลยที่ 2 สั่งในชื่อ ส.เฟอร์นิเจอร์ก่อนที่จะจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 แต่เมื่อจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 แล้วการซื้อสินค้าของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ได้เข้าไปถือเอาประโยชน์จากสินค้าที่โจทก์ส่งไปให้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ด้วย

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 485,203 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 485,203 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 367,460.50 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยใช้ชื่อว่า "แสงชัยเฟอร์นิเจอร์" ก่อนจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ประกอบกิจการค้าขายเฟอร์นิเจอร์ใช้ชื่อร้านว่า แสงชัยเฟอร์นิเจอร์และจำเลยที่ 2 ได้สั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ในชื่อ แสงชัยเฟอร์นิเจอร์ เป็นจำนวนเงิน 367,460.50 บาท เมื่อจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังคงสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ในชื่อ แสงชัยเฟอร์นิเจอร์ อีกเป็นจำนวนเงิน 117,742.50 บาท เห็นว่า การที่โจทก์ส่งสินค้าตามที่จำเลยที่ 2 สั่งในชื่อแสงชัยเฟอร์นิเจอร์ก่อนที่จะจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 แต่เมื่อจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 แล้วการซื้อสินค้าของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ได้เข้าไปถือเอาประโยชน์จากสินค้าที่โจทก์ส่งไปให้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 367,460.50 บาท แก่โจทก์นั้น จำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงยุติ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจฎีกาแทนจำเลยที่ 3 ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.
( มานะ ศุภวิริยกุล - ปัญญา ถนอมรอด - มนตรี ยอดปัญญา )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1079 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด ย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วน โดยไม่มีจำกัด จำนวนจนกว่าจะได้จดทะเบียน

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ