ฟ้องรวมกันใช้สิทธิเฉพาะตัวต้องแยกทุนทรัพย์
ฟ้องรวมกันใช้สิทธิเฉพาะตัวต้องแยกทุนทรัพย์
แม้โจทก์ทั้งสี่จะฟ้องรวมกันมาแต่ก็เป็นการที่โจทก์ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัว ดังนั้นทุนทรัพย์ของโจทก์จึงต้องถือเอาทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นราย ๆ ไปและไม่ทำให้สิทธิในการฎีกาเปลี่ยนไปแต่อย่างใด ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดแก่โจทก์แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท(200,000 บาท) จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยเป็นฝ่ายฎีกาแต่ฝ่ายเดียวก็แยกคิดทุนทรัพย์ระหว่างจำเลยกับโจทก์แต่ละคนเช่นเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4784/2539
โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยที่ 4 กับพวก ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดให้แก่โจทก์ทั้งสี่แม้จะฟ้องรวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นราย ๆ ไป โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าปลงศพ 20,000 บาท และฟ้อง เรียกค่าขาดไร้อุปการะโดยโจทก์ที่ 1 เรียกมา 50,000 บาท โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เรียกมา 400,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แต่ละคนเรียกร้องจำนวนเท่าใด แต่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ต่างก็เป็น บุตรผู้เยาว์ของผู้ตาย ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แต่ละคนคงไม่แตกต่างกันมาก จึงพออนุมานได้ว่าค่าขาดไร้อุปการะ ที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เรียกร้องมารวมกับค่าปลงศพ ที่แต่ละคนเรียกร้องมามีจำนวนไม่เกินคนละสองแสนบาทและค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องมาไม่เกินสองแสนบาทเช่นกัน
________________________________
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสุบรรณ์ ผู้ตาย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 และผู้ตาย เมื่อวันที่14 กันยายน 2532 ผู้ตายเข้ารับการทำคลอดโดยการใช้ยาสลบให้หมดสติที่โรงพยาบาลตำรวจ หลังจากนั้นได้พักฟื้นที่ห้องผู้ป่วยจนกระทั่งวันที่ 15 กันยายน 2532 เวลาประมาณ 13 นาฬิกาผู้ตายมีอาการปวดปัสสาวะแต่ไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้เนื่องจากสุขภาพร่างกายอ่อนเพลียจึงขอให้ญาติที่มาเยี่ยมแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่พยาบาลอยู่ในขณะนั้นช่วยเหลือเป็นเวลาเดียวกับที่หมดเวลาเยี่ยมผู้ป่วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงให้ญาติของผู้ตายออกจากห้องผู้ป่วย และจำเลยที่ 1 พยุงผู้ตายลงจากเตียงพาเดินไปห้องสุขา ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังอย่างผู้ประกอบวิชาชีพ ทำให้ผู้ตายเป็นลมหมดสติ ล้มลงศีรษะกระแทกพื้นบริเวณหน้าห้องสุขาถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 470,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 1แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังไม่ ปล่อยปละละเลยมิได้ใช้อำนาจหน้าที่สั่งการควบคุมการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อโจทก์ทั้งสี่ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน 470,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 35,250 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จากรายงานการตรวจศพของสถาบันนิติเวชวิทยาพบว่าผู้ตายมีกล้ามเนื้อหัวใจวายตายเก่าเป็นบางส่วนกรวยไตฝ่อตัวเล็กน้อย ทำให้มีโอกาสหน้ามืดและเป็นลมได้สูงกว่าคนปกติที่ได้รับการผ่าตัดเช่นผู้ตาย ซึ่งข้อบกพร่องนี้ทั้งแพทย์พยาบาลและจำเลยที่ 1 ไม่มีโอกาสรู้มาก่อนการตายของผู้ตายเป็นเพราะความบกพร่องของอวัยวะสำคัญของผู้ตายเอง หาใช่เกิดจากการบกพร่องของอวัยวะสำคัญของผู้ตายเอง หาใช่เกิดจากการบกพร่องต่อหน้าที่หรือความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสี่แต่อย่างใดไม่ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าใช้จ่ายในการปลงศพ ทั้งค่าเสียหายที่เรียกร้องมาสูงเกินกว่าสภาพปกติ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 15 กันยายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยที่ 4 กับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดให้แก่โจทก์แต่ละคน แม้โจทก์ทั้งสี่จะฟ้องรวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละแยกกันเป็นราย ๆ ไปจากคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพร่วมกันมาเป็นเงิน 20,000 บาท และโจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะโดยโจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกมาเป็นเงิน 50,000 บาทโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ฟ้องเรียกรวมกันมาเป็นเงิน 400,000 บาทโดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แต่ละคนเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวนเท่าใด แต่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ต่างก็เป็นบุตรผู้เยาว์ของผู้ตาย ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 2ถึงที่ 4 แต่ละคนคงไม่แตกต่างกันมาก จึงพออนุมานได้ว่าค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เรียกร้องมารวมกับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ ที่แต่ละคนเรียกร้องมามีจำนวนไม่เกินคนละสองแสนบาท และค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องมาไม่เกินสองแสนบาทเช่นกัน ซึ่งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ทั้งสี่นี้ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าปลงศพค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพและค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 4ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระตามฟ้องส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 4ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดเป็นเงิน 30,000 บาท โดยศาลอุทธรณ์ฟังว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 4 ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง โดยอ้างว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายมิได้เกิดจากการกระทำโดยละเมิดของจำเลยที่ 1และโจทก์ทั้งสี่มิได้รับความเสียหายตามจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ฎีกาของจำเลยที่ 4 จึงเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเมื่อจำนวนทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 4 ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 4 ขึ้นมานั้นเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย"
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 4
( ณรงค์ ตันติเตมิท - บุญธรรม อยู่พุก - ปรีชา บูรณะไทย )
หมายเหตุ
คดีที่โจทก์หลายคนใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนฟ้องรวมกันมาในคดีเดียวกันนั้นต้องแยกคิดทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกออกจากกัน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 6483/2538ประชุมใหญ่
คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะรวมกันมาเป็นเงินทั้งสิ้น470,000 บาท แม้ไม่ได้แยกรายละเอียดว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการปลงศพเท่าไร ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์แต่ละคนเป็นเงินเท่าไร แต่เมื่อเป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนก็ไม่ทำให้สิทธิในการฎีกาเปลี่ยนไปแต่อย่างใดศาลฎีกาจึงคำนวณแยกคิดทุนทรัพย์ที่เรียกร้องของโจทก์แต่ละคนออกจากกัน และแม้จำเลยที่ 4 เป็นฝ่ายฎีกาแต่ฝ่ายเดียวก็แยกคิดทุนทรัพย์ระหว่างจำเลยที่ 4 กับโจทก์แต่ละคนเช่นเดียวกัน
ไพโรจน์ วายุภาพ