ต้องห้ามฎีกาเพราะไม่ได้อุทธรณ์ไว้
ต้องห้ามฎีกาเพราะไม่ได้อุทธรณ์ไว้
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชิงทรัพย์ ยกฟ้องจำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชิงทรัพย์ คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ สำหรับจำเลยที่ 1 พิพากษาแก้เฉพาะบทจากความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นปล้นทรัพย์ แต่มิได้แก้ไขโทษ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย แต่ข้อเท็จจริงสำหรับจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ยุติแล้วจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแม้จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เกินห้าปีก็ตามเพราะ มิได้เคยยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2552
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดด้วย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายตามฟ้อง จำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายจึงเป็นอันยุติ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ด้วยและพิพากษาแก้เฉพาะบทจากความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นปล้นทรัพย์ มิได้แก้ไขโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เกินห้าปี แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิฎีกาได้เฉพาะในปัญหาว่าจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วยอันจะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เท่านั้น จำเลยที่ 1 จะหวนกลับมาใช้สิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายอีกไม่ได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ เมื่อจำเลยที่ 1 พ้นโทษในความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 92, 340 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 300 บาท แก่ผู้เสียหาย เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กับบวกโทษจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 436/2544 เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ และบวกโทษของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1197/2545 เข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและเพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 10 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 อีกหนึ่งในสามเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงิน 300 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก จำคุกคนละ 10 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 300 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วย จึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 10 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดด้วย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายตามฟ้อง จำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายจึงเป็นอันยุติ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดด้วย และพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 10 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน แม้คดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะพิพากษาแก้เฉพาะบทจากความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นปล้นทรัพย์ แต่มิได้แก้ไขโทษ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เกินห้าปี จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิฎีกาได้เพียงเฉพาะในปัญหาว่าจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วยอันจะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องเท่านั้น จำเลยที่ 1 จะหวนกลับมาใช้สิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายอีกไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป เนื่องจากพยานบุคคลความขัดแย้งกันของโจทก์เบิกความขัดแย้งกับพยานเอกสาร พยานเอกสารขัดแย้งกันเอง และพยานบุคคลของโจทก์เบิกความขัดแย้งกันในสาระสำคัญ กับกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานจับกุมโดยไม่ชอบ สอบสวนโดยทุจริต และบังคับและทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาให้ลงชื่อในเอกสาร ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายซึ่งเท่ากับโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมชิงทรัพย์ด้วย นั้น ล้วนเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 มิได้เคยยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทั้งสิ้น ซึ่งต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกา ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 พ้นโทษฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1411/2542 ของศาลจังหวัดปทุมธานีไปก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยที่ 1 จึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นมาก่อน จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 และพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
( ธานิศ เกศวพิทักษ์ - บุญส่ง โพธิ์พุทธชัย - สิงห์พล ละอองมณี )
ศาลจังหวัดธัญบุรี - นายสามารถ อาจณรงค์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล
ป.วิ.อ. มาตรา 15, 195 วรรคสอง, 218 วรรคสอง, 225
ป.อ. มาตรา 83, 339 วรรคสอง, 340 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4