สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
ปรากฏหลักฐานตามเอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลยว่า ผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไปทั้งทางแพ่งและทางอาญา ถือเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง เป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในฐานดังกล่าวจึงระงับไป คงเหลือเพียงความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งต้องลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุซึ่งไม่เกินสิบห้าปีอันเป็นบทหนักที่สุด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6318/2552
พนักงานอัยการจังหวัดมีนบุรี โจทก์
จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง ทั้งสามฐานความผิดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไปทั้งทางแพ่งและทางอาญา ถือเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 279, 283 ทวิ, 284, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง, 284 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารและความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุด ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี และปรับ 14,000 บาท และฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 2 ปี และปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 7 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ประกอบอาชีพโดยสุจริตตลอดมา มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอน มีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูภริยาและบุตรผู้เยาว์ ทั้งยังได้พยายามบรรเทาผลร้าย โดยตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเงิน 50,000 บาท และจำเลยได้วางเงินไว้ต่อศาลแล้วเป็นเงิน 38,000 บาท จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้งภายใน 2 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ให้จำเลยเข้ารับการศึกษา อบรมสัมมนาหรือรับฟังหลักธรรมคำสอน และ/หรือ ศีลธรรม และ/หรือจริยธรรม ตามลัทธิศาสนาที่จำเลยนับถือศรัทธา และตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ให้จำเลยชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เหลือภายใน 6 เดือน หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารกับความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า... จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีกับความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ทั้งการกระทำของจำเลยยังเป็นความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงอีกด้วย ทั้งสามฐานความผิดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษเบากว่า จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
แต่ปรากฏหลักฐานตามเอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไปทั้งทางแพ่งและทางอาญา ถือเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง เป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในฐานดังกล่าวจึงระงับไป คงเหลือเพียงความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งต้องลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุซึ่งไม่เกินสิบห้าปีอันเป็นบทหนักที่สุด ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ทั้งเห็นสมควรกำหนดโทษในความผิดฐานดังกล่าวเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีจำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารแล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี 12 เดือน จำหน่ายคดีสำหรับความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเสียจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
( พิทยา บุญชู - สิทธิชัย พรหมศร - พิษณุ ดำรงเกียรติวัฒนา )
ศาลจังหวัดมีนบุรี - นายสุริยนตร์ โสตถิทัต
ศาลอุทธรณ์ - นายกมล ธีรเวชพลกุล
ป.อ. มาตรา 279 , 283 ทวิ , 284 , 317
มาตรา 279 ผู้ใดกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ผู้กระทำได้กระทำโดย ขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ใน ภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้เด็กนั้นเข้าใจผิดว่าตน เป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี หรือปรับไม่เกิน สามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 283ทวิ ผู้ใดพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตาม วรรคแรกเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 284 ผู้ใดพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธี ข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท
ผู้ใดซ่อนเร้นบุคคลซึ่ง ถูกพาไปตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่น เดียวกับผู้พาไปนั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 39(2), 195 ,
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
(1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
(3) เมื่อคดีเลิกกันตาม มาตรา 37
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
(5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิด เช่นนั้น
(6) เมื่อคดีขาดอายุความ
(7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ
*มาตรา 195 ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้ แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่า กันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์เหล่านี้ ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาล ชั้นต้นก็ตาม