การจงใจฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้าง

นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งใหม่โดยลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ ลูกจ้างแจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ นายจ้างจึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ลูกจ้างปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ลูกจ้างปฏิเสธ นายจ้างได้มีหนังสือเลิกจ้าง การที่ลูกจ้างไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง นายจ้าง จึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง

ในกรณีที่นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ ซึ่งงานในตำแหน่งใหม่ซึ่งเป็นงานเดิมที่ลูกจ้างทำอยู่แล้ว โดยลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ กล่าวคือ สภาพการจ้างเหมือนเดิมแต่ปริมาณงานลดลง แต่ลูกจ้างกลับขอเวลาคิดทบทวนเกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่งดังกล่าวก่อน และต่อมาลูกจ้างแจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ โดยจะทำงานในตำแหน่งเดิม นายจ้างจึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ลูกจ้างปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ลูกจ้างปฏิเสธ นายจ้างจึงได้บอกเลิกจ้างด้วยวาจาว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งโยกย้ายตำแหน่งและไม่ยอมสละตำแหน่งเดิม ในวันเดียวกันในตอนบ่ายนายจ้างได้มีหนังสือเลิกจ้าง การที่ลูกจ้างไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างที่โยกย้ายไปเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ซึ่งงานในตำแหน่งดังกล่าวมีหน้าวิเคราะห์ต้นทุน รวบรวมข้อมูลและเอกสาร ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นใหม่การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพคล่องตัวขึ้น โดยลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ และเป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างงานตามสัญญาจ้างงาน การที่นายจ้างจัดองค์กรและโยกย้ายพนักงานในองค์กรให้ทำงานในตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมเพื่อให้กิจการของนายจ้างดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพ นายจ้างจึงสามารถกระทำได้ตามอำนาจในทางบริหารงานองค์กรที่ไม่ขัดกับสัญญาจ้างแรงงานระหว่างกันเพื่อให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ หากบุคลากรไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่ปรับปรุงใหม่แล้ว การดำเนินงานตามแผนงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ย่อมไม่อาจเป็นไปได้และจะก่อให้เกิดผลเสียหายแก่องค์กรและบุคลากรทั้งหมดในองค์กรนั้น ดังนั้น เมื่อนายจ้าง มีคำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ ลูกจ้างจะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง หาได้ไม่ การที่ลูกจ้างแจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ นายจ้าง จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ลูกจ้างยังคงปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง นายจ้าง จึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6700/2549

บริษัทจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ มีหน้าที่วิเคราะห์ต้นทุน รวบรวมข้อมูลและเอกสาร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นใหม่ เนื่องจากเดิมจำเลยที่ 1 มี 26 สาขา และต้องการเพิ่มอีก 5 สาขา การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพคล่องตัวขึ้น โดยโจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิม และเป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างงาน โจทก์จะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 แต่โจทก์ขอเวลาวันเสาร์อาทิตย์ และจะให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2547 ครั้นถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์แจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่โจทก์ยังคงปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจบริหารสูงสุด จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2540 ครั้งสุดท้ายตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 54,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2547 จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองที่โยกย้ายโจทก์ไปเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นการขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างเดือนสุดท้าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รวม 13,617,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ขัดต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ที่ให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหารการปฏิบัติการบริการโดยได้แจ้งโจทก์ว่าหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงและกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย 416,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ มิถุนายน 2547 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดในประเทศไทย จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม เอ แอน ดับบลิว โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2540 ครั้งสุดท้ายตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 52,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือนเอกสารหมาย ล.1 เป็นสัญญาจ้างงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการตามเอกสารหมาย ล.2 พร้อมคำแปล ซึ่งงานในตำแหน่งใหม่ดังกล่าวมีหน้าที่วิเคราะห์ต้นทุนรวบรวมข้อมูลและเอกสารซึ่งเป็นงานเดิมที่โจทก์ทำอยู่แล้ว แต่แบ่งงานออกมาเป็นอีกตำแหน่งหนึ่ง ดังนั้น ปริมาณงานจึงลดลงตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเดิมจำเลยที่ 1 มีสาขารวม 26 สาขา และต้องการขยายสาขาอีก 5 สาขา รวมเป็น 31 สาขา การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพงานคล่องตัวขึ้น โดยโจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ กล่าวคือ สภาพการจ้างเหมือนเดิมแต่ปริมาณงานลดลงซึ่งโจทก์ว่าขอเวลาวันเสาร์และอาทิตย์คิดทบทวนเกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่งดังกล่าวก่อน และจะมาให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2547 ครั้นถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์แจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ โดยจะทำงานในตำแหน่งเดิม จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่ง ตามเอกสารหมาย ล.3 พร้อมคำแปล แต่โจทก์ปฏิเสธ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกจ้างด้วยวาจาว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งโยกย้ายตำแหน่งและไม่ยอมสละตำแหน่งเดิม ในวันเดียวกันในตอนบ่าย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.4 พร้อมคำแปล เอกสารหมาย ล.5 เป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หากโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า มีสิทธิได้รับจำนวน 416,000 บาท และ 52,000 บาท ตามลำดับ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ข้อแรกว่า การที่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่โยกย้ายโจทก์ไปเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ ซึ่งงานในตำแหน่งดังกล่าวมีหน้าวิเคราะห์ต้นทุน รวบรวมข้อมูลและเอกสาร ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นใหม่เนื่องจากเดิมจำเลยที่ 2 มีสาขารวม 26 สาขา และต้องการขยายสาขาเพิ่มอีก 5 สาขา รวมเป็น 31 สาขา การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพคล่องตัวขึ้น โดยโจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ และเป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างงานตามสัญญาจ้างงานเอกสารหมาย ล.1 การที่จำเลยที่ 1 จัดองค์กรและโยกย้ายพนักงานในองค์กรให้ทำงานในตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมเพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 ดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพ จำเลยทั้งสองสามารถกระทำได้ตามอำนาจในทางบริหารงานองค์กรที่ไม่ขัดกับสัญญาจ้างแรงงานระหว่างกันเพื่อให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จำเลยทั้งสองจึงได้ปรับปรุงหน่วยงานและจัดบุคคลากรให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามหน่วยงานที่ปรับปรุงใหม่นั้น หากบุคลากรไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่ปรับปรุงใหม่แล้ว การดำเนินงานตามแผนงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ย่อมไม่อาจเป็นไปได้และจะก่อให้เกิดผลเสียหายแก่องค์กรและบุคลากรทั้งหมดในองค์กรนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ โจทก์จะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 แต่โจทก์ขอเวลาวันเสาร์และอาทิตย์ และจะให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2547 ครั้นถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์แจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.3 แต่โจทก์ยังคงปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เมื่อฟังว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว กรณีไม่ต้องวินิจฉัยเรื่องดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดจ่ายค่าชดเชยเพียงใดอีกต่อไป"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด.

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้ กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ