การบอกเลิกสัญญา | สัญญาไม่มีกำหนดเวลา

สัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลา การบอกเลิกสัญญาย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
สัญญาว่าจ้างโจทก์ให้รักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สิน มีกำหนด 1 ปี ครบกำหนด ยังคงจ้างต่อมาโดยถือตามสัญญาเดิม มีกำหนด 1 ปี ในกรณีที่สัญญาครบกำหนดแล้วยังไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าสัญญายังมีผลใช้บังคับต่อไป เงื่อนไขสัญญาข้อหนึ่งว่า สัญญาฉบับนี้อาจถูกบอกเลิกการจ้างก่อนครบกำหนดโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ได้ แต่ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ดังนี้ การบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อนี้จึงมีผลใช้บังคับในระหว่างอายุสัญญาเท่านั้น กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2540 แม้หลังจากครบกำหนดตามอายุสัญญา จำเลยที่ 1 ยังคงว่าจ้างโจทก์โดยให้ถือว่าสัญญายังมีผลบังคับใช้ต่อไปได้อีกก็ตาม แต่กรณีเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาและตามสัญญามิได้กำหนดเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญากันไว้ที่อื่น การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 35/2549

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์รักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี หลังจากครบกำหนด จำเลยที่ 1 ยังคงจ้างโจทก์ต่อมาโดยถือบังคับตามสัญญาเดิม โดยสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยนี้มีกำหนดระยะ 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 และสิ้นสุดสัญญาว่าจ้างในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2540 ในกรณีที่สัญญาครบกำหนดแล้วยังไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าสัญญายังมีผลใช้บังคับต่อไปได้อีก อนึ่งสัญญาฉบับนี้อาจถูกบอกเลิกการจ้างก่อนครบกำหนดระยะเวลาโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ดังนี้ การบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อนี้จึงมีผลใช้บังคับในระหว่างอายุสัญญาเท่านั้น กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2540 แม้หลังจากครบกำหนดตามอายุสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงว่าจ้างโจทก์ต่อมาโดยให้ถือว่าสัญญายังมีผลบังคับใช้ต่อไปได้อีกก็ตาม แต่กรณีเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาไว้และตามสัญญามิได้กำหนดเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญากันไว้ที่อื่น การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ มาตรา 386 แล้ว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 167,562 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 167,562 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์รักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย หลังจากครบกำหนด จำเลยที่ 1 ยังคงว่าจ้างโจทก์ต่อมาโดยถือบังคับตามสัญญาเดิม เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์โดยให้มีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2543 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย ข้อ 4 กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายที่จะบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เห็นว่า สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย ข้อ 4 ระบุไว้ว่า สัญญาฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 และสิ้นสุดสัญญาว่าจ้างในวันที่ 19 เดือนพฤศจิกายน 2540 ในกรณีที่สัญญาครบกำหนดแล้วยังไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าสัญญายังมีผลบังคับใช้ต่อไปได้อีก อนึ่งสัญญาฉบับนี้อาจถูกบอกเลิกการจ้างก่อนครบกำหนดระยะเวลาโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ดังนี้ การบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อนี้จึงมีผลใช้บังคับในระหว่างอายุสัญญาเท่านั้น กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2540 แม้ปรากฏว่าหลังจากครบกำหนดตามอายุสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงว่าจ้างโจทก์ต่อมาโดยให้ถือว่าสัญญายังมีผลบังคับใช้ต่อไปได้อีกก็ตาม แต่กรณีเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดไว้และตามสัญญามิได้กำหนดเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญากันไว้ในที่อื่น การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 386 แล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนจำเลยที่ 1.
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 386 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญา หรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
การแสดงเจตนาดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ