ข้อควรปฏิบัติ เมื่อมีหมายเรียกตำรวจ
ทำอย่างไร เมื่อได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน.!!!
ก่อนอื่นเลยต้องขอบอกก่อนว่า การที่จะมีหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนนั้น แสดงว่ามีบุคคลๆหนึ่ง เข้าไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และอ้างว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น และอ้างพยานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่า มีการกระทำผิดจริง จึงออกหมายเรียกให้มารายงานตัว รับทราบข้อกล่าวหา หรือเพื่อมาสอบสวน แล้วแต่กรณี
ดังนั้น เมื่อได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนแล้ว อย่าเพิ่งตกใจ.!!! ให้ดูในหมายก่อนว่า
1. ผู้ที่แจ้งความ ชื่ออะไร เรารู้จักกันมาก่อนหรือไม่ เพื่อที่จะได้รู้เบื้องต้นว่าเคยมีเรื่องพิพาทอะไรกันมาก่อน
2. ในหมายเรียกนั้น ระบุให้เราเป็นผู้ต้องหา หรือระบุว่าเราอยู่ในฐานะพยาน
3. ดูสถานที่ออกหมาย ว่าอยู่ในเขตของสถานีตำรวจท้องที่ใด
หมายในฐานะของผู้ต้องหา กับในฐานะพยานจะแตกต่างกัน
• หากท่านได้รับหมายในฐานะผู้ต้องหา
แล้ว แสดงว่าท่านถูกผู้หนึ่งผู้ใดกล่าวหาว่าท่านกระทำความผิดอาญาและประสงค์จะให้ได้รับโทษตามกฎหมายอาญา หรือที่มีโทษทางอาญา
ฉะนั้น ในเบื้องต้น ให้โทรสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกหมายเรียกเพื่อสอบถามก่อนว่า ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานใดไปบ้าง
แต่ต้องขอบอกอย่างหนึ่งนะครับว่า ครั้งแรกอาจจะเป็นการพูดคุยกันทั่วๆไป และจะมีการนัดอีกครั้ง เพื่อให้เราเตรียมเอกสาร หลักฐาน หรือคำให้การ มาเพื่อสอบสวนเต็มรูปแบบ (สอบสวน 7-8 ชั่วโมง ก็มีมาแล้ว)
• หากถูกหมายเรียกในฐานะพยาน
แปลว่า ผู้ร้องทุกข์ หรือผู้ต้องหา อ้างท่านมาเป็นพยาน เนื่องจากท่านอาจจะรู้เห็นเหตุการณ์ขณะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นก็ได้ ตรงนี้ หลายๆท่านกังวลมาก ว่ามีหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนแล้ว กลัวว่าจะถูกจับ หรือถูกคุมขัง
ต้องขอบอกก่อนนะว่า พนักงานสอบสวนเรียกไปในฐานะพยาน จะไม่มีสิทธิจับท่านในฐานะพยานได้เลย
เว้นแต่ หากพนักงานสอบสวน สอบสวนแล้วเห็นว่าท่านเป็นผู้ร่วมในการกระทำความผิดด้วย ก็จะออกหมายเรียกใหม่ แต่การออกหมายเรียกครั้งนี้ จะมีชื่อของท่านเป็นผู้ต้องหาแทน (เปลี่ยนสถานะเป็นผู้ต้องหานั่นเอง)
• หากวันที่พนักงานสอบสวนได้นัดขึ้นมา กระชั้นชิดจนเกินไป อาจจะโทรขอไปเลื่อนนัดก่อนได้ และขอวันนัดใหม่จากพนักงานสอบสวนได้เลย
ข้อแนะนำสำหรับการไปพบพนักงานสอบสวน
เนื่องจากการสอบสวน เป็นต้นสายของกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ก่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวน ควรจะเข้ามาปรึกษาทนายความก่อนไปเข้าพบพนักงานสอบสวนนะครับ เพื่อให้ทนายความได้วางแนวทางในการต่อสู้ หรือวางกรอบรูปเรื่องของคดีก่อน
เนื่องจากบางคดีเป็นโทษอันยอมความได้ หรือเพียงแค่เปรียบเทียบค่าปรับ ก็สามารถทำให้คดีเสร็จสิ้นในชั้นพนักงานสอบสวน ถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายและลดขั้นตอนของระยะเวลาในการดำเนินคดีของคู่ความและพนักงานสอบสวนได้ หรือหากเป็นคดีร้ายแรงบางประเภท กฎหมายก็กำหนดให้มีทนายความเข้าร่วมการสอบสวนเช่นกันครับ