คู่สมรสที่จดทะเบียนหย่าแล้วเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่

คู่สมรสที่จดทะเบียนหย่าแล้วเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่
กรณีควรตั้งมารดาผู้เยาว์เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับย่าหรือไม่นั้น เห็นว่ามารดาของผู้ตายมีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายและเป็นย่าของผู้เยาว์บุตรผู้ตาย ส่วนมารดาของผู้เยาว์แม้จะจดทะเบียนหย่าขาดจากผู้ตายแล้วแต่ก็ยังเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์บุตรของผู้ตายอันเกิดกับตน และเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อยู่ คงจะต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้เยาว์ไว้ให้ดีที่สุด และเคยร่วมชีวิตกับผู้ตายมาก่อน ย่อมรู้เบาะแสช่วยสืบหามรดกของผู้ตายได้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น อีกทั้งไม่เป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้ จึงสมควรตั้งมารดาของผู้เยาว์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับย่าซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1848/2531

เมื่อผู้ตายหย่ากับผู้คัดค้านได้ตกลงกันให้ผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรอยู่ในความอุปการะของผู้ตายตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่า ข้อตกลงนี้เป็นแต่เพียงการกำหนดภาระหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ระหว่างผู้ตายกับผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1522 มิใช่ข้อตกลงในเรื่องอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ตามมาตรา 1520 อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ภายหลังการหย่ายังอยู่กับผู้ตายและผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดามารดา เมื่อบิดาตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ย่อมตกอยู่แก่มารดาตามมาตรา1566 ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์และมีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกแทนผู้เยาว์ได้.
________________________________

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นมารดาของนายทวีศักดิ์ ผู้ตายขณะมีชีวิตอยู่ ผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับนางลัชนา มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชายกีรติ ต่อมาผู้ตายกับนางลัชนาได้จดทะเบียนหย่ากัน ผู้ตายมีทรัพย์มรดกหลายรายการแต่มิได้ทำพินัยกรรมและตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายกีรติ ผู้เยาว์ซึ่งเกิดกับผู้ตาย ผู้ร้องยังปิดบังทรัพย์มรดกของผู้ตายไว้หลายอย่าง หากตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจะทำให้ผู้เยาว์ได้รับความเสียหายขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านไม่มีอำนาจปกครองเด็กชายกีรติ ผู้เยาว์ จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านแทนผู้เยาว์ ให้ยกคำร้องคัดค้านและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่าให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่า ผู้คัดค้านมีอำนาจร้องคัดค้านแทนเด็กชายกีรติ ผู้เยาว์หรือไม่ และสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่

ตามปัญหาข้อแรก ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบรับกันว่าเมื่อผู้ตายหย่ากับผู้คัดค้านได้ตกลงกันให้เด็กชายกีรติบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะของผู้ตายตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย ร.2 ข้อตกลงนี้เป็นแต่เพียงการกำหนดภาระหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรระหว่างผู้ตายกับผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1522 เท่านั้น หาใช่ข้อตกลงในเรื่องอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1520 แต่อย่างใดไม่ อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ภายหลังการหย่าจึงยังอยู่กับผู้ตายและผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดามารดา เมื่อบิดาตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ก็ตกอยู่กับมารดาหรือผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 ดังนั้นผู้คัดค้านจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายกีรติผู้เยาว์ และมีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านแทนเด็กชายกีรติผู้เยาว์ได้

ตามปัญหาข้อหลัง กรณีควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่นั้น เห็นว่าผู้ร้องเป็นมารดาของผู้ตายมีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายและเป็นย่าของผู้เยาว์บุตรผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านแม้จะจดทะเบียนหย่าขาดจากผู้ตายแล้วแต่ก็ยังเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์บุตรของผู้ตายอันเกิดกับตน และเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อยู่ คงจะต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้เยาว์ไว้ให้ดีที่สุด ทั้งผู้คัดค้านก็เคยร่วมชีวิตกับผู้ตายมาก่อน ย่อมรู้เบาะแสช่วยสืบหามรดกของผู้ตายได้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น ประกอบกับผู้คัดค้านก็ไม่ใช่บุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้ จึงสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( ปชา วรธรรมพินิจ - วิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ - เสียง ตรีวิมล )

มาตรา 1520 ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลง เป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกัน หรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาด ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตาม มาตรา 1582 ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็น สำคัญ

มาตรา 1522 ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกัน ไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่ายหรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด

ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่อง ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด

มาตรา 1566 บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของ บิดามารดาอำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
(1) มารดาหรือบิดาตาย
(2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ ความสามารถ
(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ