ฝ่าฝืนระเบียบนายจ้างมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ฝ่าฝืนระเบียบนายจ้างมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์เป็นผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคำขอกู้ อนุมัติให้จ่ายเงินกู้ จัดทำเอกสารเกี่ยวกับเงินกู้ให้เป็นไปตามแบบและระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์จำเลยที่ 1 โจทก์ได้อนุมัติให้สมาชิกกู้เงินจำนวน 88,000 บาท โดยไม่มีผู้ค้ำประกันซึ่งตามระเบียบ กำหนดว่า "การให้เงินกู้ประเภทสามัญผู้กู้ต้องทำหนังสือกู้ และสมาชิกผู้ค้ำประกันต้องทำหนังสือค้ำประกันให้ต่อสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้" แต่อย่างไรก็ดีระเบียบฯ ดังกล่าว กำหนดว่า "จำนวนเงินกู้สามัญที่ให้แก่พนักงานผู้กู้คนหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมสุดแต่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเห็นสมควรแต่ต้องอยู่ภายในวงเงินไม่เกิน 12 เท่า ของเงินเดือน หรือจำนวนเงินได้รายเดือน รวม 60 เดือน ของพนักงานสหกรณ์นั้นสุดแต่จำนวนไหนน้อยกว่า ดังนั้น การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อนุมัติให้สมาชิกกู้โดยไม่มีผู้ค้ำประกันจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับแต่มิใช่กรณีร้ายแรง และไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้กระทำผิด จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (3) กรณีผิดนัดไม่จ่ายค่าชดเชยโจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แม้ในคำฟ้องของโจทก์จะขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการกู้เงินซึ่งอาจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย จึงมีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ต่อไป การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2549

โจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อนุมัติให้สมาชิกกู้โดยไม่มีผู้ค้ำประกันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แต่มิใช่กรณีร้ายแรง และไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (3) กรณีผิดนัดไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แม้ในคำฟ้องของโจทก์จะขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่เพื่อความเป็นธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 6458-6461/2544 ให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52

การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับคดีเกี่ยวกับการกู้เงินซึ่งอาจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย จึงมีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ต่อไป การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมรวมจำนวน 2,572,103 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์

จำเลยทั้งแปดให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 25,423 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 ตุลาคม 2546) ไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกและยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างในกรณีร้ายแรงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคำขอกู้ อนุมัติให้จ่ายเงินกู้ จัดทำเอกสารเกี่ยวกับเงินกู้ให้เป็นไปตามแบบและระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์จำเลยที่ 1 หมวดที่ 9 ข้อ 89 (4) โจทก์ได้อนุมัติให้สมาชิกกู้เงินจำนวน 88,000 บาท โดยไม่มีผู้ค้ำประกันซึ่งตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรสายบุรี จำกัด ว่าด้วยการให้กู้เงินสวัสดิการพนักงาน พ.ศ. 2543 ข้อ 7 กำหนดว่า "การให้เงินกู้ประเภทสามัญผู้กู้ต้องทำหนังสือกู้ และสมาชิกผู้ค้ำประกันต้องทำหนังสือค้ำประกันให้ต่อสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้" แต่อย่างไรก็ดีระเบียบฯ ดังกล่าว ข้อ 11 กำหนดว่า "จำนวนเงินกู้สามัญที่ให้แก่พนักงานผู้กู้คนหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมสุดแต่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเห็นสมควรแต่ต้องอยู่ภายในวงเงินไม่เกิน 12 เท่า ของเงินเดือน หรือจำนวนเงินได้รายเดือน รวม 60 เดือน ของพนักงานสหกรณ์นั้นสุดแต่จำนวนไหนน้อยกว่า ดังนั้น การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อนุมัติให้สมาชิกกู้โดยไม่มีผู้ค้ำประกันจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับแต่มิใช่กรณีร้ายแรง และไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้กระทำผิด 2 ข้อตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวหา จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (3) กรณีผิดนัดไม่จ่ายค่าชดเชยโจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แม้ในคำฟ้องของโจทก์จะขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52

การที่โจทก์กลับฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการกู้เงินซึ่งอาจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย จึงมีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ต่อไป การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 46,680 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 ตุลาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9.
( รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - ชวลิต ยอดเณร - รัตน กองแก้ว )

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
มาตรา 9 ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตาม มาตรา 10 วรรค 2 หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ภายในเวลาที่กำหนดตาม มาตรา 70 หรือ ค่าชดเชยตาม มาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตาม มาตรา 120 มาตรา 121 และ มาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี

ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้ลูกจ้างร้อยละสิบห้า ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน

ในกรณีที่นายจ้างพร้อมที่จะคืนหรือจ่ายเงินตามวรรคหนึ่งและ วรรคสอง และได้นำเงินไปมอบไว้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มตั้งแต่ วันที่นายจ้างนำเงินนั้นไปมอบไว้

มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ครบสิบปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกล้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตาม ฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
มาตรา 52 ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้
มาตรา 49 การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไป ในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกัน ต่อไปได้ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้างระยะเวลาทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ