ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ซึ่งประธานกรรมการบริหารส่วนตำบลแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นและพิจารณาความเห็นอื่นตามที่มอบหมาย ประธานกรรมการบริหาร เป็นผู้มีอำนาจแจ้งคำชี้ขาดแก่ผู้รับประเมิน ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ เป็นการช่วยกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีผลบังคับผูกพันประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลให้ต้องถือตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3899/2552


โจทก์ผู้รับประเมินนำค่ารายปีของทรัพย์สินที่ใช้ในปี 2545 มายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระมายังโจทก์ตาม มาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546

ในปีภาษี 2546 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่าภาษีห้องพักและบ้านพักตามอัตราค่าเช่าที่โจทก์ระบุในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ซึ่งเท่ากับค่าภาษีของห้องพักและบ้านพัก ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปี 2545 ถือว่าจำเลยที่ 1 นำค่าภาษีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียภาษีในปีต่อมาตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475

มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณี เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์ที่จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตรา ก็ควรจะแจ้งให้ผู้รับประเมินผู้เช่าหรือผู้ครองทราบก่อน

จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ประจำปี 2546 ซึ่งจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการบริหารส่วนตำบลจำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นและพิจารณาความเห็นอื่นตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จำเลยที่ 2 ประธานกรรมการบริหารจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจแจ้งคำชี้ขาดแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 25 ถึง 30 แสดงว่า การเข้าร่วมประชุมของจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นการที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ เป็นการช่วยกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีผลบังคับผูกพันประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลให้ต้องถือตามและกฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดองค์ประกอบ หรือองค์ประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวไว้ แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้เข้าร่วมประชุม แต่รับว่าได้ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และรับรองรายงานการประชุมโดยมิได้โต้แย้ง จึงไม่ถึงกับทำให้ความเห็นของคณะกรรมการตามรายงานการประชุมเสียไป จำเลยที่ 2 มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจที่จะชี้ขาดด้วยตนเองโดยไม่จำต้องชี้ขาดตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องชุดดังกล่าว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย

ปัญหาว่าหนังสือแจ้งการประเมินและคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่นั้นต้องพิจารณาถึงกรณีอันเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ต้องแสดงเหตุผลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม (1) ถึง (4) ประกอบด้วยโดยเฉพาะกรณีตาม (2) ที่ว่า เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก การที่เหตุผลนั้นจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงแต่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง และมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 225 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่วินิจฉัยให้

อนี่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินแลคะคำชี้ขาดที่ให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 เป็นเงิน 988,017.45 บาท อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสูงเกินไป โดยโจทก์เห็นว่าควรมีค่าภาษีเพียง 385,146 บาท และขอให้คืนส่วนที่เกินจำนวน 602,871.45 บาท แก่โจทก์จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์จำนวน 602,871.45 บาท คิดเป็นค่าขึ้นศาล 15,072.50 บาท แต่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในชั้นศาลภาษีอากรกลางและชั้นอุทธรณ์มาศาลละ 24,700 บาท เกินมาทั้งสองชั้นศาล รวมเป็นเงิน 19,255 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนจำเลยทั้งห้า คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาจำนวน 19,255 บาท แก่โจทก์


โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 26 มีนาคม 2546 และคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ตามรายงานการประชุมวันที่ 11 เมษายน 2546 กับให้คืนภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 602,871.45 บาท แก่โจทก์

จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่า จำเลยทั้งห้าได้ให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ในประเด็นเรื่องการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2545 (ที่ถูก 2546) หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 และมาตรา 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินหรือบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วนั้นเป็นหลักในการคำนวณภาษี ซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา เมื่อได้ความว่าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ตามแบบแจ้งรายการ ซึ่งพิมพ์ข้อความว่าประจำปีภาษี 2546 โดยโจทก์ผู้รับประเมินแจ้งรายการทรัพย์สินที่โจทก์ใช้ในปี 2545 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระ จำเลยที่ 1 มีใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 26 มีนาคม 2546 ให้โจทก์ชำระค่าภาษี 919,086 บาท ภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 ดังนั้นที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ในปี 2545 นั้น จึงชอบแล้ว มิใช่เป็นการแจ้งรายการประเมินภาษีปี 2545 ดังที่โจทก์เข้าใจ การที่จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธถึงภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 มิได้นอกเหนือคำฟ้องของโจทก์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องและวินิจฉัยประเด็นผิดพลาดนั้น เมื่อปรากฏว่า ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ถูกต้องแล้ว มิได้วินิจฉัยประเด็นผิดพลาดแต่ประการใด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการต่อไปว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 ของจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 บัญญัติว่า“ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา” สำหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ให้ความหมายว่า คือจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่า ค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ แสดงว่า ค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไข กำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในปีภาษี 2546 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีของห้องพักและบ้านพักตามอัตราค่าเช่าที่โจทก์ระบุในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปี 2546 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 23 ถึง 25 และใบแจ้งรายการประเมินเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 47, 48 ซึ่งเท่ากับค่ารายปีของห้องพักและบ้านพักตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปี 2545 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 19 ถึง 21 อันเป็นปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว จึงถือว่าจำเลยที่ 1 นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมาแล้ว

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามมาตรา 24 (ที่ถูก มาตรา 23) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 นั้น เห็นว่า เพื่อประโยชน์ในการประเมิน มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจตราทรัพย์สินได้ด้วยตนเองต่อหน้าผู้รับประเมิน ผู้เช่าหรือผู้ครองหรือผู้แทน...และเมื่อผู้รับประเมิน ผู้เช่าหรือผู้ครองได้รับคำขอร้องแล้ว ก็จะต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจตรานั้น ในการนี้ผู้รับประเมิน ผู้เช่า หรือผู้ครอง จะต้องได้รับแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบไม่ต่ำกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงก่อนตรวจนั้น มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณีไป เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์ที่จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตรา ก็ควรจะแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินทราบก่อนทำการตรวจ ดังนั้น จึงไม่ถึงกับทำให้การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ผลการสอบข้อเท็จจริงที่โจทก์ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกสรุปว่า กระบวนการประเมินค่ารายปีโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ และการชี้ขาดคำร้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่น่าจะถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลนั้น ในชั้นพิจารณาของศาล พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมา ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 การพิจารณาชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น...ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 11 เมษายน 2546 คำชี้ขาดจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งที่ 6/2546 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาประเมินค่ารายปีและคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ประจำปี 2546 ลงวันที่ 2 มกราคม 2546 ข้อ 2 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งเกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ และพิจารณาความเห็นอื่น ๆ ตามที่ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งมอบหมายอันเกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งเป็นผู้มีอำนาจแจ้งคำชี้ขาดแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 25 ถึงมาตรา 30 แสดงว่าการเข้าร่วมประชุมของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นการที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เป็นการช่วยกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นอันเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมายไม่มีผลบังคับผูกพันประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งให้ต้องถือตาม และกฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดองค์ประกอบหรือองค์ประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวไว้ แม้จำเลยที่ 4 จะเบิกความว่ามิได้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว แต่จำเลยที่ 4 ก็เบิกความรับว่า ได้ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และรับรองรายงานการประชุมตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 57 โดยมิได้โต้แย้ง จึงไม่ถึงกับทำให้ความเห็นของคณะกรรมการตามรายงานการประชุมฉบับดังกล่าวเสียไป อีกทั้งจำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจที่จะชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่นั้นด้วยตนเองโดยไม่จำต้องชี้ขาดตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องชุดดังกล่าว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 43 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ที่โจทก์ยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2548 เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรว่า หนังสือแจ้งการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ใช้บังคับแก่โจทก์มิได้ และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้นั้น เห็นว่า กรณีคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงกรณีอันเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ต้องแสดงเหตุผลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม (1) ถึง (4) ประกอบด้วย โดยเฉพาะคดีนี้เมื่อพิจารณาถึงกรณีตาม (2) ที่ว่า เหตุผล (ที่ต้องแสดง) นั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก เห็นได้ว่า การที่เหตุผลนั้นจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วหรือไม่ย่อมเป็นปัญหาในข้อเท็จจริง และกรณีนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 225 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่วินิจฉัยให้

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดที่ให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 เป็นเงิน 988,017.45 บาท อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสูงเกินไป โดยโจทก์เห็นว่าควรมีค่าภาษีเพียง 385,146 บาท และขอให้คืนเงินส่วนที่เกินจำนวน 602,871.45 บาท แก่โจทก์จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์จำนวน 602,871.45 บาท คิดเป็นค่าขึ้นศาล 15,072.50 บาท แต่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในขึ้นศาลภาษีอากรกลางและชั้นอุทธรณ์มาศาลละ 24,700 บาท เกินมาทั้งสองชั้นศาล รวมเป็นเงิน 19,255 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนจำเลยทั้งห้า คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาจำนวน 19,255 บาท แก่โจทก์


( ชาลี ทัพภวิมล - องอาจ โรจนสุพจน์ - เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ )


ศาลภาษีอากรกลาง - กีรติ ตั้งธรรม
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8, 18, 19, 23, 25, 26, 27, 28, 29, 30
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
ป.วิ.พ. มาตรา 225
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ