มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นจึงถึงที่สุด

ในกรณีที่จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้ แต่จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ภายในเวลากำหนด คดีย่อมถึงที่สุด จำเลยจะมายื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ให้พิจารณากำหนดโทษใหม่เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วไม่ได้
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้อง หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นจึงถึงที่สุด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณากำหนดโทษจำเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) อีก จึงหาอาจทำได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2551

ศาลชั้นต้นพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 ให้จำคุกจำเลย 20 ปี ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ให้ยกคำร้อง หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นจึงถึงที่สุด การที่จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 19 เมษายน 2550 ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณากำหนดโทษจำเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) อีก จึงหาอาจทำได้ไม่ ทั้งกรณีไม่เป็นไปตามลำดับชั้นศาล จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 20 ปี ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยยื่นคำร้องว่า มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน อันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย จึงขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีคำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ยกคำร้อง

ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2550 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า คำร้องของจำเลยไม่เข้าลักษณะของการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้อง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีแล้วได้ความว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 969 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 15.454 กรัม อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น โทษตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังจึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) มาใช้บังคับให้เป็นคุณแก่จำเลยได้
จำเลยฎีกาคำสั่ง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 ให้จำคุกจำเลย 20 ปี ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ให้ยกคำร้อง ในกรณีเช่นนี้หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ปรากฏว่าจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงถึงที่สุด ดังนี้ การที่จำเลยมายื่นคำร้องลงวันที่ 19 เมษายน 2550 ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณากำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) อีกนั้น จึงหาอาจทำได้ไม่ ทั้งกรณีไม่เป็นไปตามลำดับชั้นศาล จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า คำร้องของจำเลยไม่เข้าลักษณะของการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยต่อมาว่า กรณีตามคำร้องของจำเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) นั้น เป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 และไม่มีผลอันจะก่อสิทธิให้จำเลยฎีกาโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่วินิจฉัยเนื้อหาคำร้องของจำเลย ลงวันที่ 19 เมษายน 2550 และยกฎีกาจำเลย
( สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ - สิริรัตน์ จันทรา - ณรงค์พล ทองจีน )

หมายเหตุ
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 22 ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ ส่วนบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ เว้นแต่จะถูกห้ามอุทธรณ์โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น เมื่อนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 มาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ย่อมมีผลให้คำพิพากษาหรือคำสั่งที่มีกฎหมายบัญญัติว่าให้เป็นที่สุดไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องฉบับลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งถึงที่สุดแล้ว จำเลยย่อมอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2550 โดยตรงต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ขอให้กำหนดโทษจำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 มิได้ทำเป็นรูปอุทธรณ์ จึงไม่ใช่กรณีตามที่กล่าวข้างต้น ที่จะนำเหตุผลที่ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้วมาใช้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 สั่งยกคำร้องเพราะไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะวินิจฉัยได้น่าจะชอบแล้ว ซึ่งศาลฎีกาก็เห็นพ้องด้วยในส่วนนี้ แต่ในส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยต่อมาว่า กรณีตามคำร้องของจำเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) นั้นเป็นการเกินเลยไปจึงเป็นการไม่ชอบ เพราะว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคำร้องนั้นแล้ว ย่อมจะมีคำวินิจฉัยต่อมาอีกไม่ได้นั่นเอง ส่วนนี้จึงไม่ชอบ

ไพโรจน์ วายุภาพ
________________________________
มาตรา 3 ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับ กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วน ที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุด แล้วแต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่และ โทษที่ กำหนด ตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมาย ที่บัญญัติในภายหลังเมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาล เมื่อผู้กระทำ ความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น หรือ พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่ บัญญัติในภายหลัง ในการที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่นี้ ถ้าปรากฏว่า ผู้กระทำความผิดได้รับโทษมาบ้างแล้ว เมื่อได้คำนึงถึงโทษตาม กฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง หากเห็นเป็นการสมควรศาลจะ กำหนดโทษน้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมาย ที่บัญญัติในภายหลัง กำหนดไว้ ถ้าหากมีก็ได้ หรือถ้าเห็นว่าโทษที่ผู้กระทำความผิด ได้รับมาแล้วเป็นการเพียงพอ ศาลจะปล่อยผู้กระทำความผิดไปก็ได้
(2) ถ้าศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตผู้กระทำความผิด และตาม กฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ถึงประหารชีวิต ให้งดการประหารชีวิตผู้กระทำความผิด และ ให้ถือว่าโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนเป็นโทษสูงสุด ที่จะพึงลงได้ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ