บัญชีเดินสะพัด | บัญชีกระแสรายวัน

บัญชีเดินสะพัดนั้นเป็นบทบัญญัติใน บรรพ 3 ลักษณะ 19 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตั้งแต่มาตรา 856 ถึง มาตรา 860 รวม 5 มาตรา ด้วยกัน ปัญหาในเรื่องบัญชีเดินสะพัดมีมากพอสมควร เนื่องจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่นิติกรรมที่ก่อหนี้โดยตัวของมันเอง ทำนองเดียวกับเรื่องของตั๋วเงินซึ่งต้องมีหนี้กันมาก่อนไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามนิติกรรมซื้อขาย หรือสัญญาอื่น ๆ หรือการกู้ยืมเงินก็ตาม แล้วจึงมาผูกพันเป็นนิติกรรมในเรื่องของสัญญาบัญชีเดินสะพัดอีกต่อหนึ่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคล สองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการใน ระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็น จำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

กรณีที่จะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดได้ต้องเป็นเรื่องของ บุคคลสองคน แต่สองคนในที่นี้อาจจะเป็นสองฝ่าย แต่ละฝ่ายมีหลายคนซึ่งมีกิจการเกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่แปลว่าสองคนหมายถึง ก. กับ ข. เท่านั้น โดยต่างคนต่างต้องเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ซึ่งกันและกัน เพราะว่าถ้าหากเป็นเจ้าหนี้ฝ่ายเดียวหรือลูกหนี้ฝ่ายเดียวแล้วจะไม่เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด และการเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้กันและกันนั้น แทนที่จะแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กันเป็นคราว ๆ อย่างหนี้ธรรมดาก็มาตกลงวันว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงเมื่อเวลาที่กำหนดไว้หรืออาจจะไม่กำหนดเวลาไว้โดยกำหนดว่าตลอดไปจนกว่าจะบอกเลิกสัญญาก็ได้ให้มีการคิดหักกลบลบหนี้กันเป็นระยะ ๆ คือหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างกันและกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วเอามาลงรายการในบัญชีเอาไว้พอครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ให้หักทอนบัญชีกัน เป็นการเอามาหักกลบลบหนี้กันนั่นเอง ในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่จะหักทอนบัญชี คือยังไม่ถึงระยะเวลาที่จะหักกลบลบหนี้บัญชีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้หรือ ลูกหนี้ ก็ให้เอาลงบัญชีไว้ก่อนโดยไม่ต้องไปหักกลบลบหนี้กัน แต่เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ อาจจะเป็น 6 เดือน 1ปี หรือ 2 ปี ตามที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ก็เอามาหักกลบลบหนี้กัน แล้วดูว่าฝ่ายไหนเป็นเจ้าหนี้ฝ่ายไหนเป็นลูกหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2543

จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์เพียงบัญชีเดียว และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์รวม 2 ฉบับโดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สอง และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าฝากและออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้ง 2 ฉบับจากบัญชีกระแสรายวันซึ่งมีบัญชีเดียวตลอดมา โดยไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าหนี้จำนวนใดเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกหรือฉบับที่สอง กรณีจึงเป็นมูลหนี้เดียวกัน แม้ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะมีภาระในการชำระหนี้ไม่เท่ากันก็สามารถรวมฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยคนใดชำระหนี้เท่าใด หรือใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนกันอย่างไรก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนวนหนึ่ง และฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นหนี้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกฟ้องได้ให้โจทก์แยกฟ้องภายใน 15 วัน และเสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดไว้กับโจทก์ สาขานครพนม โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดเพียงบัญชีเดียว ต่อมาจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์รวม 2 ฉบับ ฉบับแรกมีวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี 2,000,000 บาท ฉบับที่สองมีวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี 7,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สอง และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าฝากและออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้ง 2 ฉบับ จากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวซึ่งมีบัญชีเดียวตลอดมา โดยไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าหนี้จำนวนใดเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกหรือฉบับที่สองแต่ในที่สุดเป็นหนี้จำนวน 12,361,110.64 บาท ปัญหาวินิจฉัยมีว่า โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีเดียวกันจะได้หรือไม่ เห็นว่าหนี้จำนวน 12,361,110.64 บาท ใช้เบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันซึ่งเป็นบัญชีเดินสะพัดบัญชีเดียวกัน จึงไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามฉบับแรกเท่าใดและตามฉบับที่สองเท่าใด จึงเป็นมูลหนี้เดียวกัน แม้ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะมีภาระในการชำระหนี้ไม่เท่ากันก็สามารถรวมฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยคนใดชำระหนี้เท่าใด หรือใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนกันอย่างไรก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องของโจทก์มาดำเนินการไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป

ข้อสังเกต
คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่าฝ่ายลูกหนี้อาจมีได้หลายคน เมื่อเป็นมูลหนี้เดียวกัน โจทก์ชอบที่จะฟ้องมาในคดีเดียวกันได้

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ