บำเหน็จดำรงชีพกับบำเหน็จตกทอด
ความหมายของคำว่า "บำเหน็จดำรงชีพ" หมายความว่า เงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองเงินสะสมของผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยและลูกจ้างจะได้รับเมื่อออกจากงาน ส่วน"บำเหน็จตกทอด" นั้นหมายความว่า เงินสะสมที่จ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมของลูกจ้างเมื่อลูกจ้างถึงแก่ความตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13116 - 14666/2551
บำเหน็จดำรงชีพแตกต่างจากบำเหน็จตกทอดทั้งตัวผู้รับคือบำเหน็จดำรงชีพจ่ายให้ตัวผู้รับบำนาญเองแต่บำเหน็จตกทอดจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิหลังจากผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายแล้ว และบำเหน็จดำรงชีพเป็นการเร่งระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินให้เร็วขึ้นจากที่ทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ได้รับบำนาญมาเป็นการจ่ายตามคำขอของผู้รับบำนาญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นการที่จำเลยจะอนุโลมเอาการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพมาใช้ในข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 4.9 ตามข้อ 17 วรรคสอง จึงมีการเปลี่ยนแปลงในหลักการของสภาพการจ้างที่เป็นตัวเงินเกิดขึ้น ทำให้ลักษณะการจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทแตกต่างไปจากเดิมทั้งตัวผู้รับและกำหนดเวลาที่ได้รับ กับลักษณะการจ่ายเงินจากทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนในอนาคตก็เปลี่ยนเป็นจ่ายตามความประสงค์ของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนที่ยังมีชีวิตอยู่ การจ่ายบำเหน็จดำรงชีพเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินของจำเลยในปัจจุบันจำเลยไม่สามารถจ่ายบำเหน็จดำรงชีพได้โดยงบประมาณของจำเลยเองจนจำเลยต้องขอคณะรัฐมนตรีให้สนับสนุนเป็นเงินทุน 1,469 ล้านบาทเศษ และเป็นเงินทุนสนับสนุนรายปีจากรัฐบาลเมื่อจำเลยเห็นสมควรให้แก้ไขหลักการในสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินโดยจ่ายบำเหน็จดำรงชีพตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 กรณีจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างเกี่ยวกับบำเหน็จดำรงชีพสำหรับจำเลยที่จำเลยอาจดำเนินการเองได้ตามมาตรา 13 (2) และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีให้ปรับปรุงสภาพการจ้างให้จ่ายบำเหน็จดำรงชีพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 วรรคสามแล้ว ศาลฎีกาย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยดำเนินการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้โจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
คดีทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 1,551
โจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายบำเหน็จดำรงชีพพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ด
จำเลยทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 46 โจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดเป็นอดีตผู้ปฏิบัติงาน (อดีตลูกจ้าง) ของจำเลย หลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้ว โจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดเป็นผู้ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน (บำนาญ) จากจำเลยตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ข้อ 16 และข้อ 17 ซึ่งระบุว่า เมื่อผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนถึงแก่ความตายให้จ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทโดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการทุกประการ ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 และพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2546 มีผลใช้บังคับ ทำให้ข้าราชการผู้รับบำนาญมีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพ จำเลยมีหนังสือที่ 1/2279/2547 ลงวันที่ 28 เมษายน 2547 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง ขอหารือในการกู้ยืมเงินมาจ่ายเป็นบำเหน็จดำรงชีพให้อดีตผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน (บำนาญ) ของจำเลย ทั้งนี้เนื่องจากจำเลยมีปัญหาขาดสภาพคล่อง โจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดได้ยื่นแบบแสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพต่อคณะกรรมการจัดการกองทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมีหนังสือลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2547 (ที่ถูกเป็นหนังสือที่ กค 0806/1705 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2547) ตอบหนังสือของจำเลยที่ 1/2279/2547 โดยเห็นว่าจำเลยควรนำเรื่องการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้อดีตผู้ปฏิบัติงานเสนอเป็นโครงการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับความสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล จำเลยมีหนังสือที่ กสส./สท 1/44/2547 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2547 ถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ขอให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับความสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลมาจ่ายเป็นบำเหน็จดำรงชีพให้อดีตผู้ปฏิบัติงาน สำนักงบประมาณมีหนังสือที่ นร 0710/372 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุว่าให้จำเลยปฏิบัติตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ข้อ 10 คือในกรณีกองทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มีเงินพอจ่ายก็ให้จำเลยทดรองจ่ายเงินให้แก่กองทุนก่อน แล้วให้กองทุนใช้เงินคืนจำเลยในโอกาสแรก และจำเลยสมควรปรับการบริหารจัดการและควบคุมการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้เพื่อเป็นการบรรเทาภาระการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยออกข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ซึ่งข้อ 17 กำหนดให้การนับเวลาทำงาน การคำนวณเงินสงเคราะห์ และวิธีการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้ผู้ปฏิบัติงานของจำเลยที่ออกจากงานให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยอนุโลม ในกรณีที่ผู้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนถึงแก่ความตายก็ให้จ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทโดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการทุกประการ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ให้ผู้ปฏิบัติงานโดยถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีบทบัญญัติหรือแก้ไขเพิ่มเติมเป็นเช่นไรจำเลยก็ต้องคำนวณเงินสงเคราะห์และจ่ายเงินสงเคราะห์ไปด้วยโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 มาตรา 3 บัญญัติให้เพิ่มความเป็นลักษณะ 2/1 บำเหน็จดำรงชีพ โดยให้ผู้รับบำนาญมีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพ (ไม่เกินสิบห้าเท่า ของบำนาญรายเดือน) ในกรณีผู้รับบำนาญได้แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพไว้แล้วแต่ตายก่อนได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพให้การจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพเป็นอันระงับไป และกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 ออกใช้บังคับ จำเลยจึงต้องถือปฏิบัติโดยอนุโลมตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ข้อ 17 และข้อบังคับนี้ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 95 วรรคสอง ด้วย ดังนั้นโจทก์ทุกคนที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนซึ่งมีลักษณะเป็นผู้รับบำนาญตามกฎหมายฉบับดังกล่าวย่อมมีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ตามอัตราและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 โดยได้รับในอัตราไม่เกินสิบห้าเท่า ของเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ตามกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนดเฉพาะระยะเวลาในการขอรับบำเหน็จดำรงชีพไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพ อีกทั้งจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริการสาธารณะและขาดทุนมาตลอด การจ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้โจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดต้องใช้เงินจำนวนมาก จำเลยต้องดำเนินการเพื่อให้ได้เงินจำนวนนี้มา ไม่พอที่จะถือว่าจำเลยผิดนัดแล้ว โจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดจึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ย สำหรับผู้ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 4.9 ที่มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพอื่นซึ่งยังไม่ได้แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพหรือยังไม่ได้ฟ้องจำเลยต่อศาล หากได้แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพโดยอนุโลมตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 แล้วย่อมเกิดสิทธิและหน้าที่ต่อจำเลยในการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพต่อไป ถือว่าบุคคลเหล่านั้นกับจำเลยเป็นนายจ้างและลูกจ้างอื่นซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 53 จึงกำหนดให้คำพิพากษาคดีนี้ผูกพันบุคคลดังกล่าวและจำเลยด้วย พิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จดำรงชีพแก่โจทก์แต่ละคนที่ได้แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพไว้ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 47/1 และกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 ในจำนวนสิบห้าเท่า ของเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนที่ได้รับแต่ไม่เกิน 200,000 บาท คำขออื่นของโจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดให้ยก และให้คำพิพากษานี้ผูกพันผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพตามบทกฎหมายดังกล่าวและข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับจำเลยด้วย กับให้คำพิพากษานี้สิ้นผลบังคับเมื่อโจทก์หรือผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพผู้หนึ่งผู้ใดได้ตายก่อนได้รับบำเหน็จดำรงชีพ
จำเลยทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยจำต้องจ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดหรือไม่ เห็นว่า ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 20 ระบุให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวหรือเป็นรายเดือนโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการและระเบียบการที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายบำนาญ คำว่า “ผู้ปฏิบัติงาน” หมายถึงบุคคลที่ทำงานประจำในการรถไฟแห่งประเทศไทย และถูกเรียกเก็บเงินเป็นรายเดือนร้อยละ 5 ของเงินเดือนทุกเดือนสะสมเข้ากองเงินสะสมของผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยตามความในข้อ 1 (3) ประกอบข้อ 5 ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานจึงเป็นลูกจ้างของจำเลยซึ่งถูกเรียกเก็บเงินเป็นรายเดือนสะสมเข้ากองเงินสะสมดังกล่าว ในการสงเคราะห์เมื่อออกจากงานตามข้อ 16 ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน และตามข้อ 17 วรรคสอง ในกรณีที่ผู้ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนถึงแก่ความตายให้กองทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทโดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการทุกประการ การที่ข้อ 17 วรรคสอง ระบุว่าให้นำหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาใช้โดยอนุโลมหมายถึงการนำพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาใช้โดยอาศัยหลักอย่างเดียวกันแต่ให้แก้ไขในรายละเอียดได้ตามควรแก่กรณี และในกรณีนี้เป็นการนำหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสงเคราะห์ให้ทายาทเมื่อผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาใช้โดยอนุโลม จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 จึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 การจ่ายเงินสงเคราะห์ให้ทายาทเมื่อผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนถึงแก่ความตายอยู่ในเรื่องการสงเคราะห์เมื่อออกจากงานตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 อันเป็นข้อบังคับที่ผู้ปฏิบัติงานยอมรับปฏิบัติตามข้อ 12 ข้อบังคับในส่วนนี้เกี่ยวกับประโยชน์ของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน จึงเป็นสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 และเป็นสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ข้อ 17 วรรคสอง วางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินกรณีผู้ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนถึงแก่ความตายว่าให้จ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาท ดังนั้นเงินสงเคราะห์ตกทอดจะจ่ายเมื่อใดจึงขึ้นอยู่กับความตายของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน อันเป็นการทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน และระบุตัวผู้รับไว้ว่าเป็นทายาทของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน แต่ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 มาตรา 3 บัญญัติให้เพิ่มความเป็นลักษณะ 2/1 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งได้เพิ่มความเป็นมาตรา 47/1 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าบำเหน็จดำรงชีพ ได้แก่ เงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพโดยจ่ายให้ครั้งเดียวและวรรคสองบัญญัติให้ผู้รับบำนาญมีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพแต่ต้องไม่เกินสิบห้าเท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ กับมาตรา 4 ให้เพิ่มความเป็นวรรคสองของมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อผู้รับบำนาญที่รับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้วถึงแก่ความตาย การจ่ายบำเหน็จตกทอดแก่ทายาทให้หักเงินออกจากบำเหน็จตกทอดที่จะได้รับเท่ากับเงินบำเหน็จดำรงชีพเสียก่อน บำเหน็จดำรงชีพตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 จึงไม่ใช่บำเหน็จตกทอดตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติสำหรับกรณีผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายให้จ่ายเงินเป็นบำเหน็จตกทอดให้ทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 48 เป็นจำนวนสามสิบเท่า ของบำนาญรายเดือน บำเหน็จดำรงชีพแตกต่างจากบำเหน็จตกทอดทั้งตัวผู้รับคือบำเหน็จดำรงชีพจ่ายให้ตัวผู้รับบำนาญเอง แต่บำเหน็จตกทอดจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิหลังจากผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายแล้ว และบำเหน็จดำรงชีพเป็นการเร่งระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินให้เร็วขึ้นจากที่ทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ได้รับบำนาญมาเป็นการจ่ายตามคำขอของผู้รับบำนาญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำขอรับบำเหน็จดำรงชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 (ใช้บังคับในขณะโจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดฟ้องคดี) ตามหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 ระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่าเป็นการนำเงินที่รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายอยู่แล้วในอนาคตมาจ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญส่วนหนึ่งก่อนโดยมิได้เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณรายจ่ายของรัฐ ซึ่งเป็นการระบุให้เห็นอยู่ในตัวว่าเป็นการเอาเงินงบประมาณที่จะจ่ายเป็นบำเหน็จตกทอดในอนาคตมาจ่ายเป็นบำเหน็จดำรงชีพในปัจจุบัน ดังนั้นการที่จำเลยจะอนุโลมเอาการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพมาใช้ในข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ตามข้อ 17 วรรคสอง จึงมีการเปลี่ยนแปลงในหลักการของสภาพการจ้างที่เป็นตัวเงินเกิดขึ้น ทำให้ลักษณะการจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทแตกต่างไปจากเดิมทั้งตัวผู้รับและกำหนดเวลาที่ได้รับกับลักษณะการจ่ายเงินจากทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนในอนาคตก็เปลี่ยนเป็นจ่ายตามความประสงค์ของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนที่ยังมีชีวิตอยู่ ปรากฏตามหนังสือของจำเลยถึงปลัดกระทรวงการคลังว่าจำเลยต้องจ่ายบำเหน็จดำรงชีพ แต่จำเลยขาดสภาพคล่อง อีกทั้งปรากฏตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการของจำเลยและหนังสือของจำเลยถึงปลัดกระทรวงคมนาคมว่า จำเลยต้องการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการบรรเทาความเดือดร้อนของอดีตผู้ปฏิบัติงาน และเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย (ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาท) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่จำเลยขาดสภาพคล่องจึงเสนอกระทรวงคมนาคมให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอสนับสนุนเป็นเงินทุน 1,469 ล้านบาทเศษ และเป็นเงินทุนสนับสนุนรายปีจากรัฐบาลโดยไม่ถือเป็นการกู้ยืมเงินของจำเลยแสดงว่าการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินของจำเลยในปัจจุบัน จำเลยไม่สามารถดำเนินการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพได้โดยงบประมาณของจำเลยเอง ไม่เป็นไปตามเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 อีกทั้งจำเลยเห็นสมควรให้แก้ไขหลักการในสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินโดยจ่ายบำเหน็จดำรงชีพตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 กรณีจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างเกี่ยวกับบำเหน็จดำรงชีพสำหรับจำเลยที่จำเลยอาจดำเนินการเองได้ตามมาตรา 13 (2) และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีให้ปรับปรุงสภาพการจ้างให้จ่ายบำเหน็จดำรงชีพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 วรรคสามแล้ว ศาลฎีกาย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยดำเนินการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้โจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5), 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่าพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 ใช้บังคับแก่จำเลยได้หรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ด
( สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์ - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - จรัส พวงมณี )
ศาลแรงงานกลาง - นายเกษมสันต์ วิลาวรรณ
ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 246
พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 7
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6, 13
พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 มาตรา 3, 4
พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 47/1, 48, 49
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31