ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
การบรรยายคำฟ้องที่มิได้ระบุวัน เวลาที่แน่ชัดว่าเป็นวันที่เท่าใด เดือนใด เวลาใด และมิได้บรรยายระบุเหตุเกิดที่แขวงใด เขตใดเป็นการแน่นอน แต่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่จำเลยกระทำความผิดและรายละเอียดอื่นเกี่ยวกับเวลาและสถานที่พอที่จำเลยเข้าใจข้อหาแล้วนั้นไม่ถือว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541 - 3542/2550
คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ พอที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีว่าเวลาที่จำเลยที่ 2 กระทำผิดเป็นวันเวลาใด และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดที่ใด โดยโจทก์หาต้องบรรยายระบุวัน เวลาที่แน่ชัดว่าจะต้องเป็นวันที่เท่าใด เดือนใด เวลาอะไรที่แน่นอน และหาต้องบรรยายระบุเหตุเกิดที่แขวงใด เขตใดที่แน่นอนในกรุงเทพมหานคร คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ในข้อ 1 ว่า "เมื่อระหว่างตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยง วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บังอาจกระทำชำเราเด็กหญิง ส. อายุ 12 ปีเศษ (เกิดวันที่ 27 ตุลาคม 2532) ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี และมิใช่ภริยาของจำเลย โดยเด็กหญิง ส. ยินยอม เหตุเกิดที่แขวงใดเขตใดไม่ปรากฏชัด ในกรุงเทพมหานคร" คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ พอที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยที่ 2 กระทำความผิดเป็นวันเวลาใด และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดที่ใด โดยโจทก์หาต้องบรรยายระบุวัน เวลาที่แน่ชัดว่าจะต้องเป็นวันที่เท่าใด เดือนใด เวลาอะไรที่แน่นอน และหาต้องบรรยายระบุเหตุเกิดที่แขวงใด เขตใดที่แน่นอนในกรุงเทพมหานคร คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 พยานบุคคล ที่กำหนดให้ศาลชั้นต้นที่ได้รับคำร้องจากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนให้สืบพยานไว้ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า เช่น อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นแก่ผู้เสียหาย หรือมีเหตุจูงใจบางอย่างที่จะทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถมาเบิกความเป็นพยานในภายหน้าได้ เป็นต้น การสืบพยานดังกล่าวจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 172 วรรคสอง และคดีนี้ปรากฏว่าในวันนัดสืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาล พนักงานอัยการได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 3 ไม่มาศาลและไม่แต่งตั้งทนายความ แสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจที่จะถามค้านผู้เสียหาย การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลจึงชอบด้วยกฎหมาย
คดีสองสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4531/2545 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสองสำนวนนี้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้ว ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 279, 282, 283, 312 ตรี, 317 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5, 7 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 796/2545 ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม, 317 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 83, 90, 91 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม และวรรคสี่ พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5, 7 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 279 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 91 เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กรวมทั้งป้องปรามมิให้มีการล่อลวงเด็กไปทำการค้าประเวณี เห็นควรลงโทษสถานหนัก กำหนดโทษจำเลยที่ 1 ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม และวรรคสี่ พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5,7 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 15 ปี จำนวน 16 กระทง เป็นจำคุก 240 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ลงโทษฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี จำคุก 2 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี จำคุกกระทงละ 8 ปี จำนวน 2 กระทง รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 18 ปี คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม, 317 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 83, 90, 91 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 279 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี ฐานเป็นธุระจัดหาหญิงเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 15 ปี จำนวน 16 กระทง เป็นจำคุก 240 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 จำคุกฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี มีกำหนด 4 เดือน ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี จำนวน 2 กระทง จำคุกกระทงละ 8 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 16 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าเด็กหญิง ส. ผู้เสียหาย เกิดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2532 เป็นบุตร ช. กับ ว. ตามสำเนาสูติบัตร ขณะเกิดเหตุคดีนี้ผู้เสียหายอายุ 12 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับ พ. เพื่อเรียนหนังสือ จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก ว. และ พ. มารดา ผู้ปกครองและผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร และเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่น จำเลยที่ 1 กับพวกเป็นธุระจัดหาชักพาผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและเพื่อทำการค้าประเวณีโดยผู้เสียหายยอมให้บุคคลหลายคนกระทำชำเรา จำเลยที่ 1 กับพวกได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนจากบุคคลดังกล่าว อันเป็นการสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็ก ทั้งนี้ เพื่อแสวงหารายได้จากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหายอยู่บ้านจำเลยที่ 1 นางสาวอุมาพรหรือบี แซ่ตั้ง พาผู้เสียหายไปพบจ่าหวังหรือจำเลยที่ 2 ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านจำเลยที่ 1 วันดังกล่าวจำเลยที่ 2 แต่งเครื่องแบบตำรวจ ผู้เสียหายทราบว่าจำเลยที่ 2 รับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม จำเลยที่ 2 มอบเงินให้แก่นางสาวอุมาพร นางสาวอุมาพรแยกตัวกลับไป จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายไปที่โรงแรมธนบุรีโฮเต็ล และให้ผู้เสียหายไปอาบน้ำ ผู้เสียหายอาบน้ำเสร็จแล้วได้นุ่งผ้าขนหนูออกจากห้องน้ำ จำเลยที่ 2 เข้าไปอาบน้ำ เมื่อจำเลยที่ 2 ออกจากห้องน้ำก็ถอดผ้าขนหนูของผู้เสียหายออกแล้วให้ผู้เสียหายนอนบนเตียง จำเลยที่ 2 ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง แล้วแต่งเครื่องแบบตำรวจพาผู้เสียหายนั่งรถยนต์เก๋งของจำเลยที่ 2 ออกจากโรงแรมไปส่งที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นผู้เสียหายกลับไปที่บ้านจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มอบเงินให้ผู้เสียหาย 800 หรือ 1,000 บาท ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน เห็นว่า เหตุเกิดเวลากลางวัน ผู้เสียหายอยู่ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 2 เป็นเวลานานพอสมควร ย่อมจำรูปร่างลักษณะของจำเลยที่ 2 ได้ ทั้งในชั้นสอบสวนผู้เสียหายได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตอนหนึ่งว่า “พบชายชื่อหวังแต่งเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งหนูไม่ทราบยศตำแหน่ง ซึ่งชายคนชื่อหวังได้บอกกับหนูว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ สน.บุปผาราม” และผู้เสียหายได้ให้การเกี่ยวกับรายละเอียดของการร่วมเพศกับจำเลยที่ 2 ไว้ด้วย ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจับกุม ผู้เสียหายได้ไปชี้ตัวจำเลยที่ 2 ที่กองปราบปราม ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 คือ นายหวัง ไม่ทราบนามสกุล ที่กระทำชำเราตนตามที่ได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน และผู้เสียหายได้ไปชี้โรงแรมธนบุรีโฮเต็ลว่าเป็นโรงแรมที่จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายไปกระทำชำเรา ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเคยรู้จักและมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อนจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 ให้ต้องได้รับโทษโดยปราศจากมูลความจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความไปตามความสัตย์จริงที่ได้พบเห็นมา ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ผู้เสียหายให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนไม่แน่ใจว่าจำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีที่โรงแรมโรสอินทร์ หรือโรงแรมธนบุรี แต่ผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ตอนหนึ่งว่า ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะพาผู้เสียหายไปโรงแรมธนบุรีนั้น ผู้เสียหายเคยไปร่วมประเวณีกับนายจิ๋วที่โรงแรมดังกล่าวมาก่อน หากจำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีที่โรงแรมดังกล่าวจริงผู้เสียหายก็น่าจะให้การยืนยันสถานที่เกิดเหตุได้ตั้งแต่ในชั้นสอบสวนแล้วเพราะเป็นระยะเวลาที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่อ้างว่าไปร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 2 จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจดจำไม่ได้ว่าไปร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 2 ณ สถานที่ใดนั้น เห็นว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 พาไปให้ผู้อื่นร่วมประเวณีเกือบทุกวันและไปโรงแรมหลายแห่ง ประกอบกับวันไปชี้สถานที่เกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้พาผู้เสียหายไปชี้สถานที่หลายแห่งอาจจะทำให้ผู้เสียหายจำสับสนไปบ้างซึ่งก็ไม่เป็นข้อพิรุธแต่อย่างใด และในการชี้สถานที่เกิดเหตุครั้งต่อมาผู้เสียหายยืนยันว่าโรงแรมที่จำเลยที่ 2 พาไปร่วมประเวณีคือโรงแรมธนบุรีโฮเต็ล ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ในการชี้ตัวจำเลยที่ 2 กระทำหลังจากเกิดเหตุ 45 วัน วันที่ผู้เสียหายชี้ตัว จำเลยที่ 2 มิได้สวมเสื้อผ้าคล้ายคลึงกับเวลาเกิดเหตุแต่สวมเสื้อยืดสีขาว กางเกงยีนสีฟ้า ซึ่งแตกต่างจากบุคคลอื่น ทั้งการชี้ตัวจำเลยที่ 2 กระทำหลังจากเกิดเหตุถึง 45 วัน จึงเชื่อว่าผู้เสียหายจะต้องเห็นภาพถ่ายจำเลยที่ 2 ก่อนทำการชี้ตัวเพราะพันตำรวจโทอารี สินธุรา เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า หลังจากผู้เสียหายให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้วทางกองปราบปรามมีหนังสือขอให้สถานีตำรวจนครบาลบุปผารามส่งภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 มาให้ ผู้เสียหายเห็นภาพถ่ายดังกล่าวในขณะชี้ภาพการชี้ตัวจำเลยที่ 2 จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดจากความทรงจำของผู้เสียหายอย่างแท้จริงนั้น เห็นว่า หลังจากผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า “พบชายชื่อหวังแต่งเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งหนูไม่ทราบยศตำแหน่ง ซึ่งชายคนชื่อหวังได้บอกกับหนูว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ สน.บุปผาราม” เพียง 3 วัน พันตำรวจเอกวินัย ทองสอง รองผู้บังคับการกองปราบปราม หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน จึงมีหนังสือไปขอภาพถ่ายข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบุปผารามที่มีชื่อเล่นว่า “หวัง” มาเพื่อประกอบการสืบสวนสอบสวน เมื่อจำเลยที่ 2 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัว ผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับนายหวังที่กระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งพันตำรวจโทวิโรจน์ จันทร์หอม พนักงานสอบสวน และ ว. มารดาผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านยืนยันว่า ผู้เสียหายไม่ได้ดูภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 ก่อนที่จะให้ผู้เสียหายทำการชี้ตัวจำเลยที่ 2 และเมื่อพิจารณาภาพถ่าย ภาพที่ 1 และภาพที่ 4 จำเลยที่ 2 จะยืนเข้าแถวปะปนกับบุคคลอื่นอีก 5 คน ทุกคนสวมเสื้อยึดคอกลมสีขาวที่พนักงานสอบสวนจัดไว้ให้ ส่วนกางเกงที่สวมใส่สีไม่เหมือนกัน มีทั้งกางเกงยีนสีน้ำเงิน กางเกงสีดำและกางเกงสีกากี การที่ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยที่ 2 ได้ถูกต้องเชื่อว่าผู้เสียหายจดจำจำเลยที่ 2 ได้ และการชี้ตัวดังกล่าวพนักงานสอบสวนปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการชี้ตัวผู้ต้องหาแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดวันใดและกระทำชำเราผู้เสียหายกี่ครั้ง ทั้งโจทก์ไม่ได้ระบุสถานที่เกิดเหตุว่าอยู่ที่ใด แขวงใด เขตใด อันเป็นสาระสำคัญแห่งการกระทำความผิดทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถเข้าใจคำฟ้องได้ดี คำฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ในข้อ 1 ว่า “เมื่อระหว่างตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยงวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บังอาจกระทำชำเราเด็กหญิง ส. อายุ 12 ปีเศษ (เกิดวันที่ 27 ตุลาคม 2532) ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี และมิใช่ภริยาของจำเลย โดยเด็กหญิง ส. ยินยอม เหตุเกิดที่แขวงใดเขตใดไม่ปรากฏชัด ในกรุงเทพมหานคร” คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ พอที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีว่าเวลาที่จำเลยที่ 2 กระทำผิดเป็นวันเวลาใด และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดที่ใด โดยโจทก์หาต้องบรรยายระบุวัน เวลาที่แน่ชัดว่าจะต้องเป็นวันที่เท่าใด เดือนใด เวลาอะไรที่แน่นอน และหาต้องบรรยายระบุเหตุเกิดที่แขวงใด เขตใดที่แน่นอนในกรุงเทพมหานคร คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ล้วนเป็นข้อปลีกย่อย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่สามารถรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงและรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ ฝ่ายโจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากที่ผู้เสียหายร่วมประเวณีกับนายเชาว์แล้วได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านจำเลยที่ 1 จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นนางสาวอุมาพรหรือบีติดต่อผู้เสียหายให้ไปร่วมประเวณีกับอาศักดาหรือจำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 1 นางสาวอุมาพรและนางสาวปรียาหรือจอยพาผู้เสียหายไปที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ที่ชั้น 3 ของสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ครั้งแรกจำเลยที่ 3 ไม่อยู่ มีคนบอกว่าจำเลยที่ 3 กำลังรับประทานอาหาร สักครู่จำเลยที่ 3 แต่งเครื่องแบบตำรวจมาที่ห้องทำงาน นางสาวอุมาพรและนางสาวปรียาไหว้จำเลยที่ 3 แล้วเดินตามเข้าไปในห้องทำงาน ผู้เสียหายเดินตามเข้าไปด้วย จำเลยที่ 3 เรียกนางสาวอุมาพรไปพูดคุยที่โต๊ะทำงาน ส่วนผู้เสียหายและนางสาวปรียานั่งอยู่ที่โซฟาภายในห้องทำงาน ต่อมาจำเลยที่ 3 เรียกผู้เสียหายเข้าไปพูดคุยและสอบถามว่าเรียนอยู่ที่ไหน อายุเท่าไร ผู้เสียหายบอกว่าเรียนอยู่ที่โรงเรียน ศ. ชั้นประถมปีที่ 5 อายุ 12 ปี จากนั้นจำเลยที่ 3 ให้นางสาวอุมาพรและนางสาวปรียาออกไปนอกห้อง แล้วลุกจากโต๊ะทำงานเข้ามากอดผู้เสียหายและพาไปนั่งที่โซฟาถอดเสื้อยกทรงผู้เสียหายออก จำเลยที่ 3 จูบหน้าอกผู้เสียหาย นางสาวอุมาพรเคาะประตูห้อง จำเลยที่ 3 ให้ผู้เสียหายรีบใส่เสื้อยกทรง เมื่อผู้เสียหายแต่งตัวเรียบร้อย จำเลยที่ 3 เปิดประตูให้นางสาวอุมาพรเข้ามาในห้อง จำเลยที่ 3 บอกผู้เสียหายว่าไม่ให้บอกนางสาวอุมาพรว่าจำเลยที่ 3 ทำอะไรผู้เสียหาย นางสาวอุมาพรถามจำเลยที่ 3 ว่า “ว่างหรือไม่ เด็กอยากไปเที่ยวกับอาศักดา” ผู้เสียหายบอกว่า “ไม่ไป” จำเลยที่ 3 จึงพูดว่า “ถ้าเด็กไม่ไป ก็ไม่ต้องให้เด็กไป เพราะอาศักดาไม่ว่าง” จำเลยที่ 3 ให้เงินนางสาวอุมาพรและผู้เสียหายคนละ 500 บาท ผู้เสียหาย นางสาวอุมาพร นางสาวปรียาและจำเลยที่ 1 จึงกลับมาที่บ้านจำเลยที่ 1 ต่อมาอีกประมาณ 1 สัปดาห์ เวลาประมาณ 18 ถึง 19 นาฬิกา นางสาวอุมาพรและผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ 3 ที่ห้องทำงานสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี วันดังกล่าวจำเลยที่ 3 แต่งเครื่องแบบตำรวจ นางสาวอุมาพรถามจำเลยที่ 3 ว่า “วันนี้อาศักดาว่างหรือไม่” ผู้เสียหายพร้อมที่จะไปกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 หันมาถามผู้เสียหายว่า “พร้อมจริงหรือ” นางสาวอุมาพรหยิกขาผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงบอกจำเลยที่ 3 ว่าพร้อมจำเลยที่ 3 ให้ผู้เสียหายและนางสาวอุมาพรไปรออยู่ที่ป้ายรถโดยสารประจำทางใกล้สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี สักครู่จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะสีขาวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมารับผู้เสียหายและนางสาวอุมาพรไปที่โรงแรมเพนท์เฮาส์ ถนนสุขุมวิท ก่อนถึงโรงแรม จำเลยที่ 3 ให้นางสาวอุมาพรไปซื้อวาสลินที่ร้านขายยาเมื่อถึงโรงแรมจำเลยที่ 3 ให้ผู้เสียหายไปอาบน้ำ ผู้เสียหายอาบน้ำเสร็จ จำเลยที่ 3 ให้นางสาวอุมาพรเข้าไปในห้องน้ำ ขณะที่ผู้เสียหายออกมาจากห้องน้ำเห็นจำเลยที่ 3 ใช้วาสลินทาอวัยวะเพศ จำเลยที่ 3 ขึ้นไปยืนบนเตียงย่อเข่าแล้วอุ้มผู้เสียหายขึ้นไปนั่งบนหน้าขาของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 หมุนตัวผู้เสียหาย 2 ถึง 3 รอบ แล้วร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย แต่ไม่สำเร็จความใคร่ เนื่องจากผู้เสียหายบอกจำเลยที่ 3 ว่าเจ็บ จำเลยที่ 3 จึงหยุดแล้วสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ขณะจำเลยที่ 3 ร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย อวัยวะเพศของจำเลยที่ 3 เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 3 จ่ายเงินให้นางสาวอุมาพร 3,000 บาท และพาผู้เสียหายกับนางสาวอุมาพรมาส่งที่ป้ายรถโดยสารประจำทางที่รับมา ผู้เสียหายและนางสาวอุมาพรกลับมาที่บ้านจำเลยที่ 1 นางสาวอุมาพรมอบเงินที่รับมาจากจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แบ่งเงินให้ผู้เสียหาย 1,000 บาท หลังจากนั้นเกือบ 2 สัปดาห์ เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยที่ 1 นางสาวอุมาพรและนางสาวอ้อพาผู้เสียหายไปที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 3 นางสาวอุมาพรถามจำเลยที่ 3 ว่าว่างหรือไม่ ผู้เสียหายจะไปกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 บอกว่าว่าง และให้ไปรอที่ป้ายรถโดยสารประจำทางข้างสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะคันเดิมมารับผู้เสียหายและนางสาวอุมาพรไปที่โรงแรมเพนท์เฮาท์ จำเลยที่ 3 ให้ผู้เสียหายไปอาบน้ำ เมื่อผู้เสียหายอาบน้ำเสร็จ จำเลยที่ 3 ให้นางสาวอุมาพรเข้าไปรออยู่ในห้องน้ำ จำเลยที่ 3 ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง ครั้งหลังนี้ผู้เสียหายไม่รู้สึกเจ็บเหมือนครั้งแรก จำเลยที่ 3 จ่ายเงินให้ผู้เสียหาย 1,000 บาท โดยบอกว่าเอาไปก่อนครั้งหลังจะเพิ่มให้ จากนั้นจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะไปส่งผู้เสียหายและนางสาวอุมาพรที่ป้ายรถโดยสารประจำทางที่เดิม ผู้เสียหายมอบเงินที่รับจากจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มอบเงินให้ผู้เสียหาย 500 บาท แต่ผู้เสียหายกลับมาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 3 ว่า ผู้เสียหายเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 3 มาก่อนเรื่องที่ผู้เสียหายกับเพื่อนไปเที่ยวที่สวนลุมพินี จำเลยที่ 3 ด่าผู้เสียหายกับเพื่อนว่า “พวกมึงเป็นกะหรี่ ไปหากินแถวอื่น อย่ามาหากินแถวนี้” และเมื่อผู้เสียหายท้องเสียไปเข้าห้องน้ำที่ชั้น 3 ของสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จำเลยที่ 3 มาพบ จึงด่าผู้เสียหายว่า “อีกะหรี่ไปหากินที่อื่น อย่ามาหากินที่นี่ ที่นี่เป็นโรงพัก” สาเหตุดังกล่าวปรากฏในเอกสารที่ผู้เสียหายเขียนด้วยลายมือของตนเอง ผู้เสียหายเขียนเอกสารดังกล่าวด้วยความสมัครใจ ไม่มีผู้ใดบังคับข่มขู่โดยมีมารดาผู้เสียหายลงลายมือชื่อรับรอง จำเลยที่ 3 ไม่เคยกระทำอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหาย เห็นว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์มีรายละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่พบจำเลยที่ 3 ครั้งแรกและไปร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 3 ที่โรงแรมเพนท์เฮาส์ ถ้าหากไม่เป็นความจริงก็ยากที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็ก แม้จะผ่านการร่วมประเวณีกับชายอื่นมาหลายคนจะปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 3 ได้ และเมื่อจำเลยที่ 3 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ได้มีการจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยที่ 3 ผู้เสียหายสามารถชี้ตัวจำเลยที่ 3 ได้ถูกต้อง ตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 และภาพถ่าย อีกทั้งผู้เสียหายสามารถชี้สถานที่เกิดเหตุตั้งแต่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ทางเข้าไปพบจำเลยที่ 3 ห้องทำงานของจำเลยที่ 3 รถยนต์กระบะสีขาวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จำเลยที่ 3 ขับไปรับผู้เสียหาย และโรงแรมกับห้องที่จำเลยที่ 3 พาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีได้อย่างถูกต้องตามภาพถ่าย (14 ภาพ) คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวน ตามบันทึกคำให้การของพยาน ซึ่งในชั้นสอบสวนกองปราบปรามและกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายเนื่องจากเป็นคดีที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจกับมีข้าราชการตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตามคำสั่งกองปราบปรามและสำเนาคำสั่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในการสอบคำให้การของผู้เสียหายได้กระทำต่อหน้าบุคคลที่ผู้เสียหายร้องขอ มารดาผู้เสียหาย นักสังคมสงเคราะห์ พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนซึ่งผู้เสียหายให้การหลังจากเกิดเหตุไม่นานย่อมจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ตนเองได้ จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่พนักงานสอบสวนหรือคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนที่กองปราบปรามและกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางตั้งขึ้นมาจะกลั่นแกล้งหรือเสี้ยมสอนผู้เสียหายให้ให้การปรักปรำจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจด้วยกัน การที่ผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 3 ในภายหลังว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยกระทำอนาจาร และกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายโกรธจำเลยที่ 3 ที่ด่าว่าผู้เสียหาย จึงแกล้งให้การปรักปรำจำเลยที่ 3 ต่อมาผู้เสียหายสำนึกผิดจึงมาเล่าความจริงให้บิดามารดาฟัง บิดามารดาผู้เสียหายบอกว่าอย่าไปใส่ความจำเลยที่ 3 จะเป็นบาป ผู้เสียหายจึงเขียนจดหมายด้วยตนเองนั้น น่าจะเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 3 เพื่อให้พ้นความผิด เพราะเมื่อ ว. มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ ทนายจำเลยที่ 3 ก็มิได้ถาม ว. เกี่ยวกับเรื่องข้อความในจดหมายว่าเป็นความจริงหรือไม่อย่างไร และ ว. ได้บอกผู้เสียหายว่าอย่าไปใส่ความจำเลยที่ 3 หรือไม่ ดังนั้น คำเบิกความของผู้เสียหายที่เบิกความในวันสืบพยานผู้ร้องก่อนฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 277 ทวิ เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของผู้เสียหายที่มาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 3 และรับฟังเป็นพยานลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า การนำสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ที่อ้างว่ามีเหตุจำเป็นจะต้องนำสืบพยานไว้ทันทีก่อนมีการฟ้องคดีเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 3 ไม่เป็นธรรมและขัดต่อกฎหมาย เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและเหตุผลอันใดที่จำเลยที่ 3 จะต้องไปใช้สิทธิหรืออิทธิพลข่มขู่พยานของโจทก์ หรือก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงกับพยานของโจทก์ที่จะนำมาสืบพยานในชั้นศาล หรือกระทำประการอื่นใดตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาตามคำร้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 พยานบุคคลที่กำหนดให้ศาลชั้นต้นที่ได้รับคำร้องจากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนให้สืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า เช่น อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นแก่ผู้เสียหาย หรือมีเหตุจูงใจบางอย่างที่จะทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถมาเบิกความเป็นพยานในภายหน้าได้ เป็นต้น ดังนั้น การสืบพยานผู้เสียหายดังกล่าวจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 172 วรรคสอง และคดีนี้ปรากฏจากรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม 2545 ว่า ในวันนัดสืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ พนักงานอัยการได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว จำเลยที่ 3 แจ้งต่อพนักงานอัยการว่ากำลังเดินทางมาศาล ศาลชั้นต้นรอจำเลยที่ 3 อยู่จนกระทั่งเวลา 13 นาฬิกา พนักงานอัยการแถลงต่อศาลว่าจำเลยที่ 3 แจ้งว่าป่วย ไม่สามารถมาศาลได้ พนักงานอัยการจึงนำผู้เสียหายเข้าสืบจนถึงเวลา 20.30 นาฬิกา จึงเห็นได้ว่าในการสืบพยานดังกล่าวพนักงานอัยการได้แจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 3 ไม่มาศาลและไม่แต่งตั้งทนายความ แสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจที่จะถามค้านผู้เสียหาย การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์มีผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่เป็นประจักษ์พยาน แต่ผู้เสียหายเบิกความไม่อยู่กับร่องกับรอยทำให้ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนพยานหลัฐานอื่นของโจทก์ล้วนเป็นพยานบอกเล่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้นั้น เห็นว่า การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายเพียงปากเดียวมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 3 กระทำอนาจาร และกระทำชำเราผู้เสียหายโดยไม่มีพยานแวดล้อมอื่นมานำสืบสนับสนุนก็ตาม เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วในตอนต้นว่าคำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าเป็นความจริงก็สามารถรับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเรื่องความสำคัญผิดเกี่ยวกับเรื่องอายุของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายมีรูปร่างใหญ่โตกว่าเด็กอายุเพียงแค่ 12 ปี โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นอย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายพอที่จะทำให้จำเลยที่ 3 เข้าใจ จะถือว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนารู้สำนึกในการกระทำและรู้องค์ประกอบของความผิดนั้นย่อมไม่ได้ เรื่องนี้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายตอนหนึ่งว่า เมื่อนางสาวอุมาพร นางสาวปรียาและผู้เสียหายไปหาจำเลยที่ 3 ที่ห้องทำงาน จำเลยที่ 3 เรียกผู้เสียหายเข้าไปพูดคุยและสอบถามว่าเรียนอยู่ที่ไหน อายุเท่าไร ผู้เสียหายบอกว่าเรียนอยู่ที่โรงเรียน ศ. ชั้นประถมปีที่ 5 อายุ 12 ปี ซึ่งจำเลยที่ 3 มิได้ถามค้านผู้เสียหายเกี่ยวกับเรื่องอายุของผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายได้บอกถึงเรื่องอายุของผู้เสียหายแก่จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว จำเลยที่ 3 จะอ้างเรื่ององค์ประกอบความผิดเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นจากความผิดมิได้ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 3 อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ และที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเกี่ยวกับเรื่องฟ้องเคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวไว้แล้วในฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ไม่สามารถรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงและรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี จำคุก 8 ปี และจำคุก 16 ปี ตามลำดับนั้น เห็นว่า หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของรูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี และลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี จำคุกกระทงละ 7 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 14 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว เป็นจำคุก 14 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
( ศุภชัย สมเจริญ - ศิริชัย จิระบุญศรี - ณรงค์ ธนะปกรณ์ )
ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม/นัดสืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาล