หน้าที่จัดการศพ | พระภิกษุไม่มีทรัพย์ตกแก่วัด
พระภิกษุผู้มรณภาพไม่มีทรัพย์สินอันเป็นมรดกให้แก่วัด ๆ จึงไม่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการศพ น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุจึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการศพ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 348/2527
แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นวัดมีสิทธิได้รับทรัพย์สินของพระภิกษุมั่นผู้มรณภาพซึ่งได้มาระหว่างสมณเพศตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 แต่พระภิกษุมั่นไม่มีทรัพย์สินอันเป็นมรดก ทั้งพระภิกษุมั่นไม่ได้ตั้งบุคคลใด ไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ. ฉะนั้นโจทก์ซึ่งเป็นทายาทพระภิกษุมั่นโดยเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุมั่นจึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการศพ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุมั่น ทัตโตซึ่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุมา 70 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2524 พระภิกษุมั่นได้มรณะภาพขณะที่พำนักอยู่ที่วัดจำเลยที่ 1 โดยมิได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินและผู้ที่จะจัดการทำศพไว้ โจทก์ในฐานะทายาทได้ไปขอรับศพพระภิกษุมั่นจากจำเลยทั้ง 4 แต่ฝ่ายจำเลยไม่ยอมมอบศพพระภิกษุมั่นให้โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ทายาทของพระภิกษุมั่น พระภิกษุมั่นไม่เคยตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการศพของตน พระภิกษุมั่นเป็นผู้ก่อตั้งวัดจำเลยที่ 1และจำพรรษาอยู่ที่วัดจำเลยที่ 1 เป็นเวลาหลายสิบปีจนกระทั่งมรณภาพ โดยถือเอาวัดจำเลยที่ 1 เป็นภูมิลำเนาของตน เมื่อพระภิกษุมั่นมรณภาพทรัพย์สินต่าง ๆของพระภิกษุมั่นที่ได้มาระหว่างสมณเพศจึงตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้นวัดจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจหน้าที่โดยธรรมและชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะจัดการศพของพระภิกษุมั่น ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุมั่น ขณะมรณภาพพระภิกษุมั่นไม่มีทรัพย์สินอันเป็นมรดก
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบศพพระภิกษุมั่นให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุมั่นผู้มรณภาพ โจทก์จึงเป็นทายาทของพระภิกษุมั่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ส่วนจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นวัดแม้จะมีสิทธิได้รับทรัพย์สินของพระภิกษุมั่นซึ่งได้มาระหว่างสมณเพศตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 แต่พระภิกษุมั่นก็ไม่มีทรัพย์สินอันเป็นมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งพระภิกษุมั่นมิได้ตั้งบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ ฉะนั้น โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของพระภิกษุมั่นจึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพ ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้เป็นทายาทและมิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายไม่มีสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับการทำศพรายนี้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
( ม.ร.ว.ชัยวัฒน์ ชมพูนุท - นิยม ติวุตานนท์ - ศักดิ์ สนองชาติ )
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มา ในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้น ถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัด ที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่ พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไป ในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับ เท่านั้น และ ภายใต้บังคับ แห่ง มาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับ มีสิทธิได้รับมรดก ก่อนหลัง ดั่งต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้อง ร่วมบิดามารดา เดียวกัน
(4) พี่น้อง ร่วมบิดา หรือ ร่วมมารดา เดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของ บทบัญญัติพิเศษแห่ง มาตรา 1635