เพิกถอนนิติกรรมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม
ปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างมาในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา อาศัยสิทธิในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเพื่อการใช้สิทธิติดตามเอาคืน โดยการเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์เป็นเจ้าของรวม ตามบันทึกมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายพิเชฐ(ทนายความ)เป็นผู้ฟ้องเรียกที่ดินจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนของจำเลยที่ 2 จะยกให้แก่บุตรเองก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ผู้ทำเอกสารแสดงเจตนาของตนต่อนายพิเชฐในขณะนั้น แม้โจทก์อยู่ด้วยในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำเอกสารดังกล่าว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมหรือเข้าร่วมผูกพันตามข้อความในเอกสารนั้นแต่อย่างใด เอกสารดังกล่าวจึงไม่มีผลลบล้างสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม จึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่... เมื่อฟังได้ว่าที่ดินทั้งสี่แปลงที่จำเลยที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าว ย่อมไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้ ศาลอุทธรณ์หาได้พิพากษาเพิกถอนที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่
_________________________________
มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต
มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆอันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หาท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
(วรรค 2)บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมีให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน
มาตรา 1361 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือ จำนอง หรือก่อให้เกิดภารติดพันก็ได้
(วรรค 2)แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภารติดพันได้ ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน
(วรรค 3)ถ้าเจ้าของรวมคนใดจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภารติดพัน ทรัพย์สินโดยมิได้รับความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน แต่ภายหลังเจ้าของ รวมคนนั้นได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่ผู้เดียวไซร้ ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นอัน สมบูรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5658/2552
แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ขึ้นอ้างในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์กับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้
ที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงตามหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท ล. มาท้ายฎีกานั้น จำเลยทั้งสองเพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นฎีกา เป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 และโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับเอกสารนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้
________________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินทั้งสี่แปลงตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ครึ่งหนึ่ง และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งปลอดภาระติดพันให้โจทก์โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการโอนทั้งสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนเอง ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินโดยปลอดภาระติดพันให้โจทก์ได้ ก็ให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงิน 73,537,500 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นางสาวสุมาลี บุตรของจำเลยที่ 2 ซึ่งเกิดจากโจทก์ และนางดวงจิต บุตรของจำเลยที่ 2 ซึ่งเกิดจากจำเลยที่ 1 ต่างยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้นางดวงจิต เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6691 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 4791, 26946 และ 26947 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนที่เป็นของโจทก์หนึ่งในสามส่วน ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวให้โจทก์หนึ่งในสามส่วนโดยปลอดจากภาระติดพัน โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ และค่าใช้จ่ายในการโอน หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 49,025,000 บาท ทั้งนี้ นางดวงจิตไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวหนึ่งในสองส่วน ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์หนึ่งในสองส่วนโดยปลอดภาระติดพัน โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้และค่าใช้จ่ายในการโอน ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 65,000,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 160,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นอ้างมาในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวม 4 แปลง ร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าเป็นบันทึกการแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์แต่ตามเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 2 ทำขึ้นโดยนายพิเชฐ ทนายความ พิมพ์ข้อความให้ และขณะที่ทำเอกสารก็มีตัวโจทก์และบุตรของโจทก์อยู่ด้วย ซึ่งในเอกสารดังกล่าวมีข้อความเพียงว่า หากได้มาจะยกให้บุตร ที่เกิดระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่กำหนดยกให้แก่โจทก์เลย แสดงว่าในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำเอกสารนั้น โจทก์ได้ยอมรับสภาพว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นของโจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องและนำเอกสารดังกล่าวมาประกอบเป็นเอกสารท้ายฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ทำบันทึกยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่งทั้งที่ตนเองไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ดังนั้นคำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำขอที่อาศัยสิทธิในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเพื่อการใช้สิทธิติดตามเอาคืน โดยการเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมซึ่งได้กระทำไปโดยไม่มีสิทธิหรืออำนาจตามกฎหมาย โจทก์หาได้อ้างสิทธิหรือบังคับตามข้อความใด ๆ ในเอกสารดังกล่าวมาฟ้องเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ส่วนที่เอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายพิเชฐเป็นผู้ฟ้องเรียกที่ดินจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนของจำเลยที่ 2 จะยกให้แก่บุตรเองก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ผู้ทำเอกสารแสดงเจตนาของตนต่อนายพิเชฐในขณะนั้น แม้โจทก์อยู่ด้วยในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำเอกสารดังกล่าว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมหรือเข้าร่วมผูกพันตามข้อความในเอกสารนั้นแต่อย่างใด เอกสารดังกล่าวจึงไม่มีผลลบล้างสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่มีอยู่ตามกฎหมาย กรณีจึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่...
จำเลยทั้งสองฎีกาประการต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรม การโอนที่ดินพิพาท แล้วแบ่งที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นการไม่ชอบ เพราะที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นสินสมรสนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงที่จำเลยที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าว ย่อมไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้พิพากษาเพิกถอนที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ในการก่อตั้งบริษัท ล. ได้นำเงินทุนและทรัพย์สินทั้งหมดมาจากการแปรสภาพกิจการทางการค้ายี่ห้อจิ้นเส็งและยี่ห้อล่อจิ้นเส็ง ซึ่งกิจการทั้งสองยี่ห้อดังกล่าวเป็นกิจการของจำเลยทั้งสองก่อนที่โจทก์จะอยู่กินกับจำเลยที่ 2 โดยอ้างหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท ล. มาท้ายฎีกานั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว จำเลยทั้งสองเพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นฎีกา เป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับเอกสารนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้ออื่น ๆ ล้วนแต่เป็นการโต้เถียงในข้อที่ไม่เป็นสาระสำคัญอันจะมีผลทำให้การวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
( มนตรี ยอดปัญญา - ดิเรก อิงคนินันท์ - วีระพล ตั้งสุวรรณ )
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ - นายอานัด อุเบกขานุกุล
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายปรีดา พูนคำ